ปิดจ๊อบเสียงแตก!! ไม่มีใครอยากขึ้นดอกเบี้ยแล้ว กนง.กลับมาเป็นเอกฉันท์ “คงดอกเบี้ย” นโยบาย พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 62 เหลือ 3.8% จาก 4% ลดประมาณไส้ในหมดทุกตัว ยกเว้นท่องเที่ยวที่ดีขึ้น กังวลความเสี่ยงด้านส่งออกชะลอจากเศรษฐกิจโลกป่วนมากที่สุด ขณะที่ยังมีความเปราะบางด้านเสถียรภาพการเงิน ตามติดหนี้ครัวเรือนพุ่ง ชี้จำเป็นต้องใช้หลากหลายเครื่องมือดูแล
นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ผลการประชุม กนง.มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% โดยมองว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ใกล้เคียงศักยภาพ การคงดอกเบี้ยนี้เป็นการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย มีความเหมาะสมและเอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากใกล้กับช่วงของการเลือกตั้ง จึงขอไม่ตอบคำถามในส่วนของการเมือง
“ในการประชุมครั้งนี้ ได้มีการปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจลงจากการประชุมครั้งก่อน คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 62 นี้จะขยายตัวในอัตรา 3.8% จากเดิมที่คาดจะขยายตัวที่ 4% ขณะที่ในปี 63 คาดว่าจะขยายตัว 3.9% โดยปัจจัยลบที่มีน้ำหนักเศรษฐกิจต่างประเทศที่ส่งผลให้การส่งออกของไทยชะลอตัวลงเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังต้องติดตามการลงทุนของภาครัฐและเอกชนให้เป็นไปตามแผน เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำลงกว่าที่ประมาณการครั้งนี้ได้ หากปัจจัยด้านต่างประเทศต่ำกว่าที่คาดไว้”
ขณะเดียวกัน ธปท.ได้ปรับลดการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในปี 62 ลงเหลือขยายตัว 3.9% จากเดิมคาด 4% ลดการคาดการณ์การลงทุนภาคเอกชนลงจากเดิม 4.5% เหลือ 4.4% การใช้จ่ายภาครัฐลงจาก 2.6% เหลือ 2.3% การลงทุนภาครัฐจาก 6.6% เหลือ 6.1% การขยายตัวการส่งออกลงจาก 3.8% เหลือ 3% การนำเข้าจากครั้งก่อนที่คาดไว้ 3.8% เหลือ 3.1% เงินเฟ้อพื้นฐานลงเหลือ 0.8% จากเดิม 0.9% ขณะที่คงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไว้ที่ 1% เท่าเดิม แต่มีการปรับขึ้นประมาณการนักท่องเที่ยวต่างประเทศเป็น 40.4 ล้านคน จากเดิม 40 ล้านคน
“การบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามรายได้ครัวเรือนทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้นและกระจายตัวมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งได้รับแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการย้ายฐานการผลิตมายังไทยและโครงการร่วมลงทุนของรัฐและเอกชนในโครงสร้างพื้นฐาน แต่การส่งออกสินค้าขยายตัวชะลอลงกว่าที่ประเมินไว้ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงผลของมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน การใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ทั้งการบริโภคและการลงทุน โดยเป็นผลจากความล่าช้าในโครงการลงทุนของรัฐวิสาหกิจบางแห่ง”
ทั้งนี้ ต้องติดตามมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมหลัก และความคืบหน้าของการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและการลงทุนภาคเอกชน ซึ่งอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป นอกจากนั้น กนง.ยังคงเห็นความเสี่ยงในด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยแม้ว่ามาตรการที่ ธปท.ออกไปก่อนหน้าและการขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมาจะลดความเสี่ยงได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังจำเป็นที่จะต้องลดความเสี่ยงต่อเนื่อง โดยจุดที่ กนง.จับตาในการประชุมครั้งนี้ คือหนี้ครัวเรือนที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบฐานะของครัวเรือนไทยในอนาคต รวมทั้งปัจจัยอื่นๆด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กนง.มีมติขึ้นดอกเบี้ยจาก 1.5% เป็น 1.75% ส่งผลค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอยู่แล้ว ได้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วท่ามกลางการที่หลายฝ่ายออกมาแสดงความคัดค้านเพราะได้รับผลกระทบจากต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น.