ผู้ว่าการ ธปท.ระบุ ไม่สบายใจในบางช่วงที่ค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว แต่รอบนี้ตรวจสอบแล้วไม่พบว่ามีการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้นหรือนำเงินร้อนเข้ามาพัก ยังคงติดตามสถานการณ์บาทแข็งใกล้ชิด ชี้ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินสหรัฐฯอ่อน ขณะที่เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ยันดูแลค่าเงินใกล้ชิด ระบุโจทย์ใหญ่ไม่ใช่เงินบาทอยู่ที่เท่าไร แต่ต้องทำให้เศรษฐกิจและธุรกิจไทยรับความผันผวนได้
นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯที่อ่อนค่าลงตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ เป็นผลจากการเลือกตั้งกลางเทอมสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนขั้วพรรคที่มีเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่างจากพรรครีพับลิกันเป็นเดโมเครต รวมทั้งการหยุดทำการของหน่วยงานรัฐบาลกลาง นอกจากนั้น ประเด็นที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (เฟด) ส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยช้ากว่าเดิม และความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนที่ยังไม่คืบหน้า ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ซึ่งในทางตรงกันข้ามทำให้สกุลเงินประเทศเกิดใหม่แข็งค่าขึ้น รวมทั้งค่าเงินบาทของไทย
ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 62 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 3.93% อยู่ในระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับสกุลเงินประเทศเกิดใหม่และภูมิภาค เป็นผลจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูง แม้การส่งออกจะชะลอลงแต่การนำเข้าชะลอลงด้วย ขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวดีขึ้นมาก นอกจากนี้ยังมีเงินลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ที่เข้ามาลงทุนระยะยาวมากขึ้นด้วย โดยปี 61 ไทยเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นการเกินดุลการค้า 23,000 ล้านเหรียญฯ และเกินดุลบริการ 14,000 ล้านเหรียญฯ “อาจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้เงินบาทแข็งค่าแต่ข้อเท็จจริงสถานการณ์ปีนี้แตกต่างจากปีก่อนๆ คือ ตั้งแต่ต้นปี 62 ถึงปัจจุบัน มีเงินไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทย 407 ล้านเหรียญฯ ขณะที่มีเงินไหลเข้าตลาดหุ้น 123 ล้านเหรียญฯ ทำให้มีเงินทุนไหลออกสุทธิ 284 ล้านเหรียญฯ ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่ 1.75% ยังต่ำกว่าสหรัฐฯซึ่งอยู่ที่ 2.25-2.5% และต่ำกว่าในภูมิภาค เช่น เวียดนาม 6.25% อินโดนีเซีย 6.75% ฟิลิปปินส์ 4.75% มาเลเซีย 3.25%”
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ธปท. ติดตามสถานการณ์ค่าเงินบาทอย่างใกล้ชิด และมีความไม่สบายใจในบางช่วงเมื่อค่าเงินบาทเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยช่วงที่ผ่านมาหากเห็นการเก็งกำไรที่ผิดปกติ เช่น การนำเงินระยะสั้นเข้ามาพัก หรือการเคลื่อนไหวผันผวนรุนแรงของค่าเงินบาทไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจก็จะเข้าไปดูแล แต่การแข็งค่ารอบนี้เท่าที่พิจารณาแล้ว ไม่มีการเก็งกำไรระยะสั้น หรือมีการนำเงินร้อนเข้ามาพัก แต่เป็นเพราะพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่ดีขึ้นเป็นหลัก แต่ก็พร้อมที่จะเข้าดูแลหากมีความผันผวนที่รุนแรง
“ค่าเงินถือเป็นประเด็นอ่อนไหว เป็นเหมือนเหรียญสองด้านที่เวลาเงินบาทแข็งหรืออ่อนค่า จะมีทั้งคนได้คนเสีย การเข้าดูแลของ ธปท.ต้องระวังไม่ให้ไทยถูกจัดเป็นประเทศที่บิดเบือนค่าเงิน ซึ่งอาจถูกมาตรการกีดกันทางการค้าได้ ซึ่งจะทำให้สถานการณ์ยิ่งแย่ลง ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของไทยขณะนี้ ไม่ใช่ความพยายามตรึงค่าเงินบาทไว้ที่ใดที่หนึ่ง แต่ต้องคิดว่าทำอย่างไรเศรษฐกิจและภาคธุรกิจไทยจะรับมือกับความผันผวนของเงินบาทได้ดีเท่ากับหรือมากกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งที่ผ่านมามีความผันผวนมากกว่าไทยมาก”
ผู้ว่าการ ธปท.กล่าวต่อว่า สาเหตุของการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่วนหนึ่งเพราะที่ผ่านมาไทยมีการลงทุนต่ำ โดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพิ่งเกิดขึ้น ดังนั้น การเร่งลงทุนของภาครัฐจะช่วยได้ส่วนหนึ่ง ส่วนภาคธุรกิจ มีโจทย์หลายเรื่องที่ต้องร่วมกันคิด เพราะอัตราแลกเปลี่ยนเป็นส่วนหนึ่งของราคา แต่การแข่งแต่ราคาอย่างเดียวอาจไม่ยั่งยืน จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า และทำให้สินค้ามีจุดขาย ซึ่งต้องทำไปพร้อมกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งขณะนี้มีหลายวิธี และมีต้นทุนที่ต่ำลง โดยผู้ส่งออกนำเข้าควรป้องกันความเสี่ยงค่าเงินตลอดเวลา เพราะมีจำนวนหนึ่งที่ไม่ยอมทำและจะมาทำในช่วงที่ค่าเงินแข็งหรืออ่อนลงเร็ว ซึ่งนอกจากไม่ก่อให้เกิดผลดีแล้ว ยังเป็นแรงกดดันสถานการณ์ให้แย่ลงด้วย
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐ-มนตรี กล่าวว่า เรื่องค่าเงินบาทได้หารือกับผู้ว่าการ ธปท. ว่าค่าเงินบาทที่แข็งค่า ทำให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง ซึ่งผู้ว่าการ ธปท.ทราบดี แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผู้ว่าการ ธปท.ต้องดูแลภาพรวมของเศรษฐกิจด้วย จึงถือว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในขณะนี้มีความเสี่ยงน้อยที่สุด.