นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB เปิดเผยว่า เร็วๆนี้จะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ระหว่างกระทรวงการคลัง กับพันธมิตรใหม่ ในการควบรวมกิจการระหว่าง TMB กับธนาคารธนชาต โดยตามหลักการแล้ว หลังควบรวมกิจการ ธนาคารธนชาตจะเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารทหารไทย
“ในเร็วๆนี้จะลงนามเอ็มโอยูร่วมกัน ขณะนี้ได้ข้อสรุปหมดแล้ว เหลือเพียงรายละเอียดเล็กน้อย ในฝั่งของผู้ถือหุ้นต่างชาติ คือ ธนาคาร ING Bank N.V. ถือหุ้นในทหารไทยสัดส่วน 25.018% รองจากกระทรวงการคลัง และผู้ถือหุ้นรายใหม่คือ ธนาคารธนชาต ที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่ 48.99% เป็นต่างชาติ คือ Scotia Netherlands Holding B.V. จึงต้องหารือเพื่อตกลงเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่กระทรวงการคลังคุยกับธนาคารธนชาตแล้วจบ”
ส่วนการหารือระหว่าง 2 ธนาคารนั้น จะไม่ยกเว้นภาษี หรือลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม นอกเหนือจากมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 เม.ย.61 ที่อนุมัติออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ที่กำหนดว่า จะยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ รวมถึงค่าธรรมเนียมให้แก่ผู้ถือหุ้นของธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารพาณิชย์ที่ควบรวมกัน หรือโอนกิจการทั้งหมด หรือบางส่วนให้แก่กัน โดยมีเวลาสิ้นสุดมาตรการคือสิ้นปี 62
สำหรับกระบวนการควบรวมนั้น จากนี้ไปฝ่ายบริหารของธนาคาร 2 แห่ง จะวางแผนควบรวมสาขา ปรับปรุงหน่วยงานบริการและอื่นๆ ซึ่งอาจใช้เวลาดำเนินการ 3-6 เดือน ส่วนหลังการควบรวมแล้ว กระทรวงการคลังจะยังคงรักษาสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารทหารไทยไว้ระดับเดิมที่ 25.915% ดังนั้น หากต้องเพิ่มทุนก็พร้อมใส่เงิน 8,000 ล้านบาท หรือ 13,000 ล้านบาท เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นให้อยู่ระดับเดิมที่ 25-26%.