กาญจนา โชคไพศาลศิลป์ (ผู้บริหารงานวิจัย) บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ธนาคารกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2567 จะยังเป็นอีกปีที่จะเห็นค่าเงินบาทผันผวนต่อเนื่อง หลังจากในปี 2566 เงินบาทมีความผันผวนสูงเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย โดยในปี 2567 มีหลายปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท และแต่ละเรื่องก็มีจังหวะที่มีความไม่แน่นอนเยอะ อย่างเรื่องแรกที่เป็นธีมใหญ่ของตลาด ซึ่งก็คือทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐฯ เพราะแม้แนวโน้ม ณ เวลานี้จะค่อนข้างชัดเจนว่าเฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในปี 2567 ซึ่งปัจจัยนี้อาจจะมีผลกระทบทำให้เงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่า และเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้น
และเมื่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเพราะเฟดมีแนวโน้มลดดอกเบี้ย ก็อาจจะหนุนให้ราคาทองคำในตลาดโลกขยับขึ้น ซึ่งตรงจุดนี้นับเป็นปัจจัยบวกของค่าเงินบาทด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นทิศทางของดอกเบี้ยเฟดที่เป็นแนวโน้มขาลงอาจจะทำให้ดอลลลาร์ฯ อ่อน ราคาทองคำในตลาดโลกปรับขึ้น และบาทมีโอกาสแข็งค่านั่นเอง
แต่ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้จะอยู่ที่ “จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่” ซึ่งก็คือจังหวะเวลาที่เฟดจะเริ่มลดดอกเบี้ย และ “จะเกิดขึ้นอย่างไร” ซึ่งก็คือขนาดการปรับลดดอกเบี้ย โดยเงื่อนไขเหล่านี้ยังเป็นเรื่องที่มีความไม่แน่นอน และอาจจะทำให้ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนแกว่งตัวผันผวน เพราะยังต้องขึ้นอยู่กับพัฒนาการของเศรษฐกิจ ตลาดแรงงาน และทิศทางเงินเฟ้อของสหรัฐฯ
ตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตลาดเทน้ำหนักว่าเรื่องเหล่านี้จะเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว และเฟดอาจต้องปรับลดดอกเบี้ยมากกว่าที่สื่อสารไว้ แต่สำหรับมุมมองของธนาคารกสิกรไทยคาดว่า อาจจะไม่เกิดขึ้นเร็วแบบที่ตลาดคาด ดังนั้นหากเฟดออกมาส่งสัญญาณ หรือตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ออกมาแย่ หรือยังสะท้อนว่าเฟดน่าจะไม่สามารถเริ่มลดดอกเบี้ยได้เร็วตามที่ตลาดคิด ก็อาจทำให้เงินดอลลาร์ฯ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ในบางจังหวะ เพื่อปรับโพสิชันจากที่เคยขายดอลลาร์ฯ ไว้ในช่วงที่เก็งเรื่องเฟดลดดอกเบี้ย ซึ่งภายใต้สถานการณ์แบบนี้ก็อาจทำให้เงินบาทกลับไปอ่อนค่าในบางจังหวะได้เหมือนกัน
ด้วยเหตุนี้หากมองภาพใหญ่ทั้งปี 2567 เป็นธีมเฟดลดดอกเบี้ย ดอลลาร์อ่อน ทองขึ้น บาทแข็ง และหากเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเราอาจจะมีแรงหนุนจากด้านนั้นอีก ทุกอย่างจะเทไปที่ “บาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นในปี 2567” โดยธนาคารกสิกรไทยประเมินค่าเงินบาทในสิ้นปี 2567 นี้อยู่ที่ 34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ เพียงแต่ว่าปี 2567 การเคลื่อนไหวของเงินบาทในระหว่างปี จะยังมีความผันผวนเป็นกรอบกว้างต่อเนื่องจากปี 2566 เพราะจังหวะเวลาการปรับลดดอกเบี้ยของเฟดยังมีความไม่แน่นอนเยอะ
รวมทั้งมีอีกหลายปัจจัยที่ยังคงต้องติดตามสำหรับเศรษฐกิจไทย โดยในปี 2567 เป็นปีที่หลายหน่วยงานประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะดีกว่าปีที่ผ่านมา แต่จะดีขึ้นเมื่อไหร่นั้นก็จะต้องรอติดตามกันต่อไป เพราะหากเส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมีความต่อเนื่อง อาจจะช่วยหนุนให้ค่าเงินบาททยอยกลับมาแข็งค่า แต่หากล่าช้า หรือมีปัจจัยอะไรที่มากระทบจังหวะบาทแข็งก็อาจจะมาช้าได้เช่นกัน
ด้าน พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ (3 ม.ค. 67) ที่ระดับ 34.29 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลง” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 34.13 บาทต่อดอลลาร์
โดยในช่วงคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามที่ได้ประเมินไว้ว่าโมเมนตัมการแข็งค่าของเงินบาทจะเริ่มชะลอลง และมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าได้ (แกว่งตัวในช่วง 34.12-34.35 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีปัจจัยกดดันฝั่งอ่อนค่าจากภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมที่หนุนให้เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้น
นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ เข้าใกล้ระดับ 4.00% ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการปรับสถานะถือครองก่อนรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ก็มีส่วนยิ่งกดดันให้ราคาทองคำปรับตัวลดลงกลับสู่โซนแนวรับระยะสั้นอีกครั้ง ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนอาจเข้าซื้อทองคำในโซนดังกล่าวบ้าง และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลง
สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท ประเมินว่าเงินบาทอาจเผชิญความเสี่ยงผันผวนอ่อนค่าลงได้ หลังเงินดอลลาร์เริ่มกลับทิศทางทยอยแข็งค่าขึ้น ส่วนราคาทองคำก็ย่อตัวลงเข้าใกล้โซนแนวรับสำคัญ ซึ่งปัจจัยที่จะชี้ชะตาว่าเงินบาทจะผันผวนอ่อนค่าลงทดสอบโซนแนวต้านสำคัญ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้หรือไม่ อาจขึ้นกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ โดยหากดัชนี ISM PMI ภาคการผลิต หรือยอดตำแหน่งงานเปิดรับออกมาดีกว่าคาด สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่ง ก็อาจยิ่งหนุนการกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4% ของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรดาผู้เล่นในตลาดอาจเริ่มทยอยปรับลดความคาดหวังการลดดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้
นอกจากนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดก็กลับมาในจังหวะที่ดัชนี SET ปรับตัวขึ้นทดสอบโซนแนวต้าน ทำให้มีความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจเริ่มทยอยขายทำกำไรหุ้นมากขึ้น เช่นเดียวกันกับในฝั่งบอนด์ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป ก็อาจกดดันให้บอนด์ยีลด์ไทยปรับตัวขึ้นตามได้ และสร้างแรงกดดันต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติในตลาดบอนด์ไทย
ทั้งนี้กรุงไทยยังคงประเมินว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าไปไกลมากจากโซนแนวต้านสำคัญ เนื่องจากบรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็อาจรอจังหวะเพื่อทยอยขายเงินดอลลาร์ รวมถึงรอเพิ่มสถานะ Long THB (มองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นในปีนี้) ส่วนโซนแนวรับเงินบาท เรามองว่าโซน 34.00-34.10 บาทต่อดอลลาร์ ยังคงเป็นโซนแนวรับที่เงินบาทอาจยังไม่สามารถแข็งค่าผ่านไปได้ง่ายนัก จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนที่ชัดเจน
ในช่วงนี้พบว่าความผันผวนของเงินบาทยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยในอดีตที่ผ่านมา (มองจากกรอบเงินบาทรายสัปดาห์) จึงแนะนำว่าผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรม และแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง สำหรับกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.10-34.40 บาท/ดอลลาร์.