ไทยติดอันดับ 6 ถูกหลอกโอนเงิน ธปท.ชี้สถิติพบ 1 ใน 5 ชาวโลกเคยตกเป็นเหยื่อ

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ไทยติดอันดับ 6 ถูกหลอกโอนเงิน ธปท.ชี้สถิติพบ 1 ใน 5 ชาวโลกเคยตกเป็นเหยื่อ

Date Time: 6 ธ.ค. 2566 07:01 น.

Summary

  • ธปท.รวบรวมภัยการเงินออนไลน์ทั่วโลก พบไทยถูกหลอกลวงติดอันดับ 6 ของโลกในปี 65 ขณะที่อินเดียอยู่อันดับ 1 ถูกหลอก ขณะที่พบประเทศที่ก้าวหน้าทางการเงิน อังกฤษ สิงคโปร์ ออสเตรเลีย โดนหลอกไม่แพ้ชาติอื่น ชี้ภาครัฐไทยเร่งหาทางแก้ไข ตั้งโทร.แจ้งสายด่วน 1441 รับร้องเรียนออนไลน์ 24 ชั่วโมง

Latest

ยกระดับสู่องค์กรดิจิทัล เคทีซีตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อปีหน้าขยายตัว 4-5%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE ฉบับที่ 3 ปี 2566 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รวบรวมภัยการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมทั้งในไทย ในหัวข้อ “รวมมิจฯ ภัยการเงินออนไลน์รอบโลก” อ้างอิงจากข้อมูลสถิติจากรายงาน The Global State of Scam Report-2022 ซึ่งแสดงให้เห็นการหลอกลวงที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2564 ทั่วโลกมีรายงานการถูกหลอกลวงเงินผ่านช่องทางออนไลน์มากถึง 293 ล้านครั้ง และมีมูลค่าความเสียหายสูงถึง 55,300 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.935 ล้านล้านบาท อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นประมาณ 10.2% จากปีก่อนหน้า และเป็นการฉ้อโกงด้านการชำระเงินสูงที่สุด

สอดคล้องกับรายงานของ ACI Worldwide ผู้ให้บริการโซลูชันการธนาคารและการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบเรียลไทม์ระดับโลก เรื่อง It’s Prime Time for Real-Time 2023 ที่พบว่า 1 ใน 5 ของผู้บริโภคที่ถูกสำรวจในปี 2565 เคยตกเป็นเหยื่อของการฉ้อโกงการชำระเงิน ขณะที่ประเทศที่ใช้ระบบการเงินแบบโอนและรับเงินได้ทันทีตลอด 24 ชั่วโมงในอัตราที่สูง จะมีแนวโน้มมีภัยการเงินสูงตามไปด้วย ซึ่ง 5 ประเทศที่มีการทำธุรกรรมแบบ real-time มากที่สุดในปี 2565 ได้แก่ อินเดีย (89,500 ล้านรายการ) พบมีอัตราการถูกหลอกลวงสูงเป็นอันดับหนึ่งเช่นกันที่ 44.6% บราซิล (29,200 ล้านรายการ) มีอัตราการหลอกลวง 22.6% จีน (17,600 ล้านรายการ) มีอัตราการหลอกลวงที่ 10.7% ขณะที่ไทย (16,500 ล้านรายการ) มีอัตราการถูกหลอกลวงเป็นอันดับ 6 ของโลก ที่ 25.7%

ทั้งนี้ ยังมีการระบุถึงทิศทางการถูกหลอกลวงออนไลน์ในแต่ละประเทศ ในปี 2565 ด้วยว่า การหลอกลวงเกี่ยวกับการชำระเงินมีสัดส่วนถึง 57% ของการฉ้อโกงที่เกิดขึ้นในอังกฤษ สร้างความเสียหายกว่า 422 ล้านปอนด์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการหลอกลวงแบบ APP หรือการชักจูงให้หลงเชื่อแล้วโอนเงินด้วยตัวเอง ซึ่งลักษณะการกระทำผิดก็มีส่วนคล้ายกับบ้านเรา โดยเงินที่ฉ้อโกงมาจะถูกโอนไปยังบัญชีม้าเพื่ออำพรางเงินและหลบเลี่ยงการตรวจสอบ

สำหรับมูลค่าความเสียหายการถูกหลอกลวงสูงที่สุดในปี 2565 มีรายงานว่า ชาวออสเตรเลียถูกหลอกลวง คิดเป็นมูลค่าความเสียหายรวมกว่า 3,100 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย โดยพบมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1.การหลอกให้ลงทุนที่มีสัดส่วนมากถึง 66% ของมูลค่าความเสียหาย 2.โรแมนซ์สแกม 3.การหลอกเรียกเก็บเงิน เช่น เก็บค่าสินค้าปลายทาง ทั้งๆที่ไม่ได้สั่งสินค้า 4.การหลอกลวงทางอินเตอร์เน็ต และ 5.การหลอกให้กดลิงก์หรือดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน เพื่อควบคุมสมาร์ทโฟนจากระยะไกล ซึ่งจะสังเกตได้ว่าเป็นคดีที่คล้ายกับที่พบในไทย

ขณะที่ยังพบว่า ในปี 2565 ชาวสิงคโปร์เผชิญกับภัยการเงินกว่า 660.7 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ มีการฟ้องร้องดำเนินคดีถึง 31,728 คดี เพิ่มขึ้นจนแซงหน้าคดีอาชญากรรมประเภทอื่นๆ เคสที่พบมากคือการหลอกให้สแกน QR code เพื่อกรอกแบบสำรวจรับชานมไข่มุกฟรี หรือสแกนจองที่จอดรถ ทั้งสองรูปแบบมีจุดประสงค์เพื่อเข้าถึงสมาร์ทโฟนและหลอกดูดเงิน ดังนั้น ที่เข้าใจกันว่าเหยื่อต้องเป็นคนที่ไม่เท่าทันเทคโนโลยี ตรงกันข้ามเพราะเหยื่อกว่า 50% ที่สิงคโปร์ไม่ใช่ผู้สูงอายุ เป็นคนวัยทำงานที่มีอายุ 20-39 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่ใช้โซเชียลมีเดียสูง และมีพฤติกรรมชอบคลิกลิงก์ต่างๆ เพื่ออ่านข้อมูล จะเห็นได้ว่ามิจฉาชีพมีการวิเคราะห์พฤติกรรมและปรับใช้กลโกงให้เข้ากับกลุ่มเหยื่อ

สำหรับประเทศไทย 5 ประเภทคดีที่มีสถิติการแจ้งความออนไลน์มากที่สุดในไทยในปี 2566 ได้แก่ 1.หลอกให้ซื้อขายสินค้าหรือบริการ 2.หลอกให้โอนเงินเพื่อทำงาน 3.หลอกให้กู้เงิน 4.หลอกให้ลงทุนผ่านระบบคอมพิวเตอร์ และ 5.ข่มขู่ทางโทรศัพท์ โดยหลังจากการประกาศบังคับใช้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ซึ่งเพิ่มโทษของผู้กระทำความผิดเปิดบัญชีม้า โดยจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มีคดีร้องเรียนออนไลน์ลดลงจาก 790 เรื่องต่อวัน (เฉลี่ยช่วง 1 ม.ค.-16 มี.ค.66) เหลือ 591 เรื่องต่อวัน (เฉลี่ยช่วง 17 มี.ค.-31 ก.ค.66) และอายัดบัญชีได้ทันเพิ่มขึ้นเป็น 10.6% ของมูลค่าที่ขออายัดจากเดิมที่อยู่ที่ร้อยละ 6.5% รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ หรือโทร.สายด่วน 1441 รับเรื่องร้องเรียนออนไลน์ 24 ชั่วโมง เพื่อทำงานเชิงรุกแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ขณะที่ในภาคธนาคารไทยอยู่ระหว่างการผลักดันให้ธนาคารต่างๆยกระดับระบบตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติได้แบบ near real-time เพื่อระงับธุรกรรมได้อย่างรวดเร็ว คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงปลายปี 2566 นอกจากตรวจจับรับมือแล้ว ภาคธนาคารยังทำมาตรการเชิงป้องกันด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน.

อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ