ก้าวของไทยกับธุรกรรมการเงินดิจิทัล

Personal Finance

Banking & Bond

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ก้าวของไทยกับธุรกรรมการเงินดิจิทัล

Date Time: 2 ก.ค. 2565 06:30 น.

Summary

  • กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หรือ “digital disruption” ทำให้ทุกประเทศต่างต้องปรับตัวตามให้ทันการ

Latest

เปิดคู่มือ สร้างอิสรภาพทางการเงิน ปี 2568 ฉบับมือใหม่

ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

กระแสความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว หรือ “digital disruption” ทำให้ทุกประเทศต่างต้องปรับตัวตามให้ทันการ โดยเฉพาะการระบาดของโควิด-19 ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของประชากรโลกเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในหลายๆเรื่อง เห็นได้ชัดคือการเพิ่มขึ้นของการทำธุรกรรมแบบ real time ที่ช่วยทำให้การทำธุรกรรมทางการเงินต่างๆสะดวกสบายมากขึ้น บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอนำการจัดอันดับล่าสุดของไทยในด้านนี้มาเล่าให้กับท่านผู้อ่านค่ะ

ไทยก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นและถือเป็นผู้นำโดยเฉพาะด้านการทำธุรกรรมการเงินแบบ real time ซึ่งคือการโอนเงินหรือรับเงินได้ทันที ทำธุรกรรมได้ทุกเวลา ตลอดทั้ง 365 วัน ตัวอย่างในไทย เช่น พร้อมเพย์ โดยรายงานการสำรวจที่จัดทำโดย ACI Worldwide ร่วมกับบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก อย่าง GlobalData และ CEBR ที่สำรวจใน 53 ประเทศ พบว่า ไทยเป็นผู้นำในอาเซียนด้านการชำระเงินแบบ real time ที่มูลค่าจำนวนเงินไม่สูง อยู่ในอันดับ 3 ของโลก รองจากอินเดีย และจีน ด้วยยอดธุรกรรมจำนวน 9.7 พันล้านครั้งในปี 2564

นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังศึกษาผลต่อเศรษฐกิจจากการทำธุรกรรมการเงินแบบ real time โดยพบว่า ภาครัฐที่ดำเนินการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างการชำระเงินของประเทศให้ทันสมัย จะสามารถสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในระบบนิเวศการชำระเงินทั้งประชาชนและธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากบริการชำระเงินที่รวดเร็ว ราบรื่น และเชื่อมต่อกันอย่างทั่วถึง ขณะที่สถาบันการเงินสามารถพัฒนาธุรกิจเพื่อรองรับอนาคตผ่านการปรับปรุงการดำเนินงานให้ทันสมัยหรือพัฒนานวัตกรรมโดยอาศัยข้อมูลเป็นตัวขับเคลื่อน สำหรับภาครัฐก็สามารถกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดขนาดของระบบเศรษฐกิจใต้ดิน และสร้างระบบการเงินที่เป็นธรรมมากขึ้นสำหรับทุกคน ทั้งนี้ ในกรณีไทย ธุรกรรมการเงินแบบ real time ช่วยเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจราว 2% ของ GDP ซึ่งอยู่อันดับที่ 2 จาก 30 ประเทศที่มีการคาดการณ์ว่า GDP จะเพิ่มขึ้น

การทำธุรกรรมการเงินแบบ real time ที่เพิ่มขึ้น และโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบการชำระเงินของประเทศที่เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานสากล ส่วนหนึ่งมาจากการขับเคลื่อนนโยบายการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (national e-payment) ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย ต้นทุนต่ำ และมีประสิทธิภาพ อาทิ การปรับกระบวนการรับจ่ายเงินของภาครัฐสู่ e-payment เต็มรูปแบบ โดยเฉพาะการส่งเงินสวัสดิการให้ประชาชนโดยตรงผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การให้บริการพร้อมเพย์ (prompt pay) และ QR payment ของแบงก์ชาติที่ให้บริการชำระเงินที่สะดวกและต้นทุนต่ำ หรือกระเป๋าเงินออนไลน์อย่าง g-wallet ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตังที่เป็นช่องทางใช้สิทธิโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เช่น โครงการคนละครึ่ง เป็นต้น

นโยบาย national e-payment นอกจากจะอำนวยความสะดวกแก่ทุกภาคส่วนในการทำธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจแล้ว ยังเป็น กลไกสำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และเพิ่มความง่ายในการประกอบธุรกิจ (ease of doing business) ด้วย

ทั้งนี้ แม้ไทยจะเป็นหนึ่งในผู้นำด้านนี้ แต่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและแบงก์ชาติเองยังคงต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างบริการชำระเงินที่ดี สะดวก และปลอดภัย ในวงกว้างต่อไป เช่น การเชื่อมโยงการโอนเงินและการชำระเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มอาเซียนภายใต้แนวคิด ASEAN payment connectivity ที่อยู่ในแผนงานของแบงก์ชาติและบางส่วนได้ดำเนินการไปแล้ว รวมถึง จำเป็นต้องมีแนวทางเพื่อลดและป้องกันการเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีด้วยเช่นกัน ทั้งการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต ทักษะดิจิทัล และประเด็นความปลอดภัยในโลกออนไลน์ค่ะ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ