“อัสสเดช” ผู้จัดการ ตลท. คนใหม่ วาดฝันสร้างตลาดหุ้นไทย “เท่าเทียม” ดันไทยเป็น Listing Hub

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“อัสสเดช” ผู้จัดการ ตลท. คนใหม่ วาดฝันสร้างตลาดหุ้นไทย “เท่าเทียม” ดันไทยเป็น Listing Hub

Date Time: 2 ต.ค. 2567 15:14 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • “อัสสเดช คงสิริ” ในฐานะกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คนที่ 14 เผยอยู่ระหว่างเตรียมเสนอแผนต่อบอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ตลาดหุ้นไทย เป็นตลาดทุน “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม” พร้อมดันตลาดหุ้นไทยเป็น “Listing Hub” ดึงบริษัทต่างชาติที่กำลังเติบโต และต้องการระดมทุน เข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย

Latest


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กำลังก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ด้วยการนำของ “อัสสเดช คงสิริ” ในฐานะกรรมการและผู้จัดการคนที่ 14 ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมเสนอแผนต่อที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายใต้แนวคิดที่ต้องการให้ตลาดหุ้นไทย เป็นตลาดทุน “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม” โดยคาดว่าแผนดังกล่าว จะสามารถประกาศอย่างเป็นทางการได้ภายในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ ถือเป็นก้าวแรกของวิสัยทัศน์ใหม่ ที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืน


อัสสเดช ได้กล่าวถึงหัวใจสำคัญของแผนงานที่เน้นความเท่าเทียมในหลายมิติ รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาในตลาดหุ้นไทย หลังจากเผชิญกับความท้าทายในช่วงที่ผ่านมา


เร่งสร้างตลาดทุน “เพื่อส่วนรวมและความเท่าเทียม”


อัสสเดช คงสิริกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำแผนเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะเปิดเผยได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้

โดยหัวใจและหลักการในการบริหารจัดการตลาดทุนไทย คือการทำเพื่อส่วนรวมและสร้างความเท่าเทียม ซึ่งมีองค์ประกอบหลายมิติ ไม่ใช่เพียงความเท่าเทียมระหว่างนักลงทุนเท่านั้น ซึ่งเป็นบทบาทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะดำเนินการต่อไปในหลักการ ประกอบด้วย

  1. ความสมดุลเท่าเทียม (Fairness) - ซึ่งต้องสร้างให้เกิดขึ้นระหว่างนักลงทุนทุกกลุ่ม
  2. เข้าถึง ทั่วถึง (Inclusiveness) - เพื่อให้นักลงทุนทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น
  3. ตอบโจทย์อนาคต แข่งขันได้ (Re-imagine) - นำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาตลาดหุ้นไทย
  4. รับโอกาสและความท้าทายจากกระแสความยั่งยืน (Sustainability) - เป็นความเสี่ยงและโอกาสของบริษัทจดทะเบียน และตลาดทุน ซึ่งอาจมีกฎเกณฑ์เพิ่มเติมในอนาคต ซึ่งต้องสร้างความสมดุลอย่างเหมาะสม
  5. เสริมความเชื่อมั่นตลาดทุน (Trust & Confidence) - ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ามีเหตุการณ์ที่ทำให้ความเชื่อมั่นของตลาดหุ้นไทยลดลงไป ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อแผนงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ต้องการฟื้นความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นได้จริง

ทั้งนี้ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สร้างความไม่เชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทย มองว่าจะต้องมีการดำเนินการที่รวดเร็วและรัดกุม ซึ่งจะต้องสานต่อความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ได้มีการพูดคุยและศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นที่หลายคนรู้สึกถึงความไม่เท่าเทียม ระหว่างนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนสถาบัน และการใช้โรบอทเทรด ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นอะไรที่ต้องหาทางออก เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยมีความสมดุลและเท่าเทียม

ซึ่งในหลักการนั้น มองว่าต้องโฟกัสที่พฤติกรรมของนักลงทุน เชื่อว่าสามารถให้คำจำกัดความได้ว่าพฤติกรรมใดดีต่อตลาดทุนหรือไม่ โดยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือเอาเปรียบนักลงทุนก็ไม่ควรสนับสนุน และต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อออกมาตรการหรือเกณฑ์ในการดูแลที่เหมาะสม

“ตลาดทุนเป็นของเราทุกคน ทุกคนในตลาดทุนมีบทบาทแตกต่างกันไป ผมพร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น ผมเชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจดีให้ตลาดทุนของเราพัฒนาไปในทางที่เป็นประโยชน์ให้กับเศรษฐกิจและบ้านเมือง” อัสสเดช กล่าว


ดันตลาดหุ้นไทยเป็น “Listing Hub” พร้อมเร่งยกระดับ บจ.


อัสสเดช กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างพูดคุยกับทีมงานเพื่อทำแผนให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถเป็น “Listing Hub” หรือศูนย์รวมในการระดมทุนของบริษัทในภูมิภาค ซึ่งต้องประเมินว่าอุตสาหกรรมใดบ้าง ที่เรามีความสามารถหรือศักยภาพเหนือกว่าตลาดหลักทรัพย์อื่น

และทำอย่างไรให้บริษัทต่างชาติที่กำลังเติบโต และต้องการระดมทุนนึกถึงตลาดหุ้นไทยให้ได้ ซึ่งจะต้องมีความร่วมมือจากหน่วยงานรัฐอื่นๆ ในการสนับสนุนภาพใหญ่ให้สามารถไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้

พร้อมกันนี้ มีแนวคิดในการผลักดันให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีโปรแกรมที่สามารถสนับสนุนและจูงใจ ให้บริษัทจดทะเบียนไทยมีแผนในการพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง (Value up) เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไรของบริษัทต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) และผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) จากการทำให้ Balance Sheet ของบริษัทมีความเข้มแข็งมากขึ้น

นอกจากนี้ มีแนวคิดในการเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของนักลงทุนได้มากขึ้น โดยอยู่ระหว่างศึกษาการทำ Option ของทองคำ ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนมีแนวโน้มให้ความสนใจค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม อัสสเดช ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยกำลังฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี หากดูจากการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมายังมีทิศทางที่ดี ขณะที่รัฐบาลก็มีความเสถียรภาพ และได้ออกมาตรการหลายอย่าง ที่สนับสนุนตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกองทุนลดหย่อนภาษี Thai ESG และกองทุนรวมวายุภักษ์ เพราะฉะนั้น โดยภาพรวมยังมีมุมมองในเชิงบวกกับเศรษฐกิจและตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้

 

อ่านข่าวหุ้น และการลงทุน กับ Thairath Money ได้ที่

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ