ทริส หั่นเครดิต ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) เหลือ A แนวโน้ม “ลบ” ผลจากกำไรตกต่ำ หนี้สินสูง

Investment

Stocks

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ทริส หั่นเครดิต ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) เหลือ A แนวโน้ม “ลบ” ผลจากกำไรตกต่ำ หนี้สินสูง

Date Time: 1 เม.ย. 2567 14:10 น.

Video

โลกร้อน ทำคนจนกว่าที่คิด "คาร์บอนเครดิต" โอกาสในเศรษฐกิจโลกใหม่

Summary

  • สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ทริสเรทติ้ง ประกาศปรับอันดับเครดิตองค์กร และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน ชุดปัจจุบันของ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A” จาก “A+” พร้อมทั้งเปลี่ยน แนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” ตามการลดอันดับของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) สะท้อนผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง และหนี้สินที่อยู่ในระดับสูง

Latest


ทริสเรทติ้ง ลดอันดับเครดิตองค์กร และหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นระดับ “A” จาก “A+” พร้อมทั้งเปลี่ยนแนวโน้มอันดับเครดิตเป็น “Stable” หรือ “คงที่” จาก “Negative” หรือ “ลบ” โดยการลดอันดับเครดิตเป็นไปตามการลดอันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) (หรือ CPF อันดับเครดิต “A/Stable”)

ซึ่งสะท้อนถึงผลการดำเนินงานที่อ่อนแอลง และระดับหนี้ที่ยังคงสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ด้วยสถานะการเป็นบริษัทย่อยหลักของ CPF อันดับเครดิตและแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทจึงขึ้นอยู่กับสถานะเครดิตของ CPF ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้ง ยังจัดอันดับเครดิตให้แก่หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ใน วงเงินไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีกำหนดไถ่ถอนภายใน 15 ปี ของบริษัทที่ระดับ “A” ด้วยเช่นกัน

โดยเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวจะนำไปใช้ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทหรือของบริษัทในกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหารดังต่อไปนี้ (1) ดำเนินธุรกิจ และ/หรือ (2) ขยายธุรกิจ และ/หรือ (3) ลงทุนในหุ้นหรือสินทรัพย์ และ/หรือ (4) ชำระคืนหนี้ และ/หรือ (5) ให้กู้ยืมแก่บริษัทในกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือเข้าซื้อหุ้นของบริษัทในกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์อาหาร

ทั้งนี้ บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มีสถานะเป็นบริษัทย่อยหลักของ CPF บริษัทได้รับการก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินธุรกิจสัตว์บกภายในประเทศไทย ให้แก่ CPF สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งของบริษัทสะท้อนถึงการดำเนินงานที่ผสานเป็นหนึ่ง เดียวกับการดำเนินงานของ CPF ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ตลอดจนการได้รับการสนับสนุนในด้านต่างๆ จากบริษัทแม่ ทั้งนี้การที่ CPF ถือหุ้นเกือบทั้งหมดในบริษัท ทาง CPF จึงมีอำนาจควบคุมทิศทางและการดำเนินธุรกิจทั้งหมดของบริษัท ในขณะเดียวกัน CPF ยังช่วยในเรื่องการขยายการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทโดยผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายทั้งภายในประเทศและต่างประเทศของ CPF อีกทั้งยังช่วยในเรื่องการจัดหาวัตถุดิบต่างๆ ให้แก่บริษัท 


นอกจากนี้ CPF ยังได้แสดงให้เห็นถึงการให้การสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบของการเพิ่มทุน หรือเงินกู้แก่บริษัทในเวลาที่จำเป็นอีกด้วย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมารายได้จากการดำเนินงานของบริษัทคิดเป็นสัดส่วน 25%-27% ของรายได้จากการดำเนินงานรวมของ CPF ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัด จำหน่าย (EBITDA) ของบริษัทมีความผันผวนและขึ้นอยู่กับราคาสัตว์บกภายในประเทศโดยมี สัดส่วนคิดเป็น 4%-32% ของ EBITDA ของ CPF ในช่วงเวลาเดียวกัน ราคาเนื้อสัตว์บกที่ตกต่ำมากส่งผลลบต่อผลประกอบการของบริษัท ผลการดำเนินงานของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากราคาสัตว์บกที่ตกต่ำ ในขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ทั้งนี้จากการลักลอบนำเข้าสุกรเถื่อนจากต่างประเทศส่งผลให้ราคาสุกรลดลงอย่างมาก ในขณะที่ราคาไก่ก็ปรับตัวลดลงจากการเป็นสินค้าทดแทนเนื้อสุกรและจากภาวะอุปทาน ส่วนเกินอันเกิดจากปริมาณการส่งออกที่ลดลง


ในปี 2566 ราคาเฉลี่ยสุกรลดลง 25.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 72.8 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาเฉลี่ยไก่ลดลง 7.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 37.1 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานที่ระดับ 1.57 แสนล้านบาท ลดลง 3.6% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ EBITDA ลดลงมาอยู่ที่ 1.7 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับระดับ 5 พันล้านบาทถึง 2 หมื่นล้านบาทในช่วงปี 2563-2565 ส่วนอัตรา EBITDA Margin นั้นอยู่ที่ระดับ 1.1% ลดลงจากระดับ 3.8%-12.2% ในช่วงระหว่างปี 2563-2565 ทริสเรทติ้ง มองว่า บริษัทจะยังคงเผชิญกับความท้าทายหลากหลายประการในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ตลอดจนความผันผวนของราคาผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้ง คาดว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากต้นทุนวัตถุดิบที่ลดลง นอกจากนี้ยังคาดว่าราคาสัตว์บก และสถานการณ์ด้านอุปทานจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น หลังจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้ทำการปราบปรามการลักลอบนำเข้าสุกรเถื่อน รวมทั้งการที่บริษัทจะได้รับประโยชน์จากการบูรณาการร่วมกัน และการสนับสนุนจาก CPF และบริษัทในเครือ ภาระหนี้ในระดับสูงและกระแสเงินสดที่ลดลงในช่วงวัฏจักรขาลงของอุตสาหกรรม ภาระหนี้สินของบริษัทเมื่อวัดจากระดับหนี้สินเทียบกับกระแสเงินสดนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2566 จากความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดลดลงในช่วงวงจรขาลงของอุตสาหกรรม โดย ณ เดือนธันวาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 1.36 แสนล้านบาท จากระดับ 1.16 แสนล้านบาท ในปี 2565 


ในขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA เพิ่มขึ้นอย่างมากในปี 2566 จากระดับประมาณ 6 เท่า ในปี 2565 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทติดลบในปี 2566 จากระดับ 13.1% ในปี 2565 สภาพคล่องตึงตัวแต่คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้ ณ เดือนธันวาคม 2566 บริษัทมีหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยจำนวน 1.28 แสนล้านบาท โดยจำนวนกว่า 70% ของหนี้สินดังกล่าวเป็นหุ้นกู้และเงินกู้ยืมระยะยาว ส่วนที่เหลือเป็นเงินกู้ยืมระยะสั้นที่ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ทริสเรทติ้ง ประเมินว่าสภาพคล่องของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะตึงตัว แต่คาดว่าจะสามารถบริหารจัดการได้โดยกระแสเงินสดจ่ายหลักๆ จะประกอบด้วยหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอนจำนวน 4 พันล้านบาท และงบเพื่อการลงทุนจำนวน 7 พันล้านบาท ทั้งนี้บริษัทมีเงินกู้ระยะสั้นจำนวนมากที่จะครบกำหนดในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งคาดว่าบริษัทจะกู้เงินใหม่เพื่อมาชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่ครบกำหนดนี้ นอกจากนี้บริษัทยังมีสภาพคล่องจากเงินสดในมือประมาณ 1.7 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจากความสามารถในการเข้าถึงตลาดทุนของบริษัทและวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งแล้ว ทริสเรทติ้ง มีความเห็นว่าความเสี่ยงในการกู้ยืมใหม่เพื่อนำมาชำระคืนหนี้เงินกู้เดิมของบริษัทจะบรรเทาลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามข้อกำหนดทางการเงินของตราสารหนี้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนให้ต่ำกว่า 2.0 เท่านั้น ณ เดือนธันวาคม 2566 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.5 เท่า ซึ่งทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ในช่วง 2-3 ปี ข้างหน้า.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ