ธนาคารกลางสหรัฐ ประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 4.50 - 4.75% นับเป็นการปรับขึ้นในระดับที่ลดลงจากก่อนหน้า โดยนักวิเคราะห์มองว่าเป็นผลดีต่อตลาดสินทรัพย์เสี่ยงให้ เงินทุนจะไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรายงานความเคลื่อนไหวของเงินทุนต่างชาติ ยังไหลเข้าประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในเดือน ม.ค. พบว่านักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทย 18,343 ล้านบาท นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส เปิดเผยว่า กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 4.50-4.75% เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาด ขณะที่แนวโน้มทิศทางอัตราดอกเบี้ยจากนี้ เชื่อว่าเพดานในการปรับขึ้นเหลืออยู่เพียง 0.25 – 0.5% หลังจากนั้นคาดว่าจะเห็นอัตราดอกเบี้ยทรงตัว และอาจเห็นการปรับลดลงในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้
ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 2 ปีปรับตัวลดลง 0.10% สู่ระดับ 4.11% สะท้อนมุมมองในตลาดการเงินว่าเพดานของอัตราดอกเบี้ยเริ่มจำกัด เงินทุนต่างชาติจึงไหลออกจากสินทรัพย์ปลอดภัย เข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น
โดยเศรษฐกิจของไทย และจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัวโดดเด่น ดัชนี PMI ภาคการผลิต (PMI Manufacturing) หลายประเทศฟื้นตัวกลับมาค่อนข้างชัดเจนจากช่วงการแพร่ระบาดโควิด สะท้อนภาคธุรกิจกลับมาขยายตัว เฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยและจีนที่ PMI เดือน ม.ค. ปรับตัวเพิ่มขึ้นโดดเด่น และไทยอยู่ที่ระดับ 54.5 จุด ส่วน PMI จีนอยู่ที่ระดับ 50.1 จุด
และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยเพิ่งกลับมายืนเท่ากับจุดก่อนเกิด Covid-19 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ขยับขึ้นมาใกล้เคียงก่อนเกิด Covid-19 ภาวะดังกล่าวน่าจะเห็น Momentum ของการขยับขึ้นทั้ง GDP และ อัตราดอกเบี้ย อีกประเด็นหนึ่งที่อยู่ในความสนใจคือ การจัดเก็บภาษีจากการขายหุ้น แม้จะยังไม่เห็นการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา แต่ยังไม่เห็นสัญญาณที่กระทรวงการคลังจะยกเลิกการจัดเก็บ ภาวะของความไม่แน่นอนดังกล่าวอาจสร้างกระแสเก็งกำไรเป็นช่วงๆ
ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังถูกแวดล้อมด้วยปัจจัยบวก แต่ก็มีแรงกดดันจากผลประกอบการไตรมาสที่ 4 ที่มีความเสี่ยงว่าจะออกมาต่ำกว่าที่คาด ประเมินกรอบดัชนีจะอยู่ที่ 1680 – 1695 จุด หุ้น Top Pick เลือก MAJOR, CPN และ ADVANC
บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นหลังการประชุม FOMC เริ่มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่มีโอกาสผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และมุมมองต่อเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลงจากผลกระทบของวัฏจักรการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ที่รวดเร็วนับตั้งแต่การประชุมเดือน มี.ค. 65
ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าดัชนีจะตอบรับเชิงบวกจากการประชุม FOMC ที่ดีกว่าคาด ปรับตัวเพิ่มขึ้นในกรอบ 1,680-1,700 จุด คาดกลุ่มที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าตลาดคือกลุ่ม Growth/Technology และกลุ่มที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย อาทิ การเงินและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่ม Anti-commodity