ผ่านมาไม่ถึง 4 เดือนเต็มของปี 2568 ตลาดเงินตลาดทุนตลาดการค้าและเศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับความปั่นป่วนอย่างหนักหนาสาหัสสากรรจ์ ตั้งแต่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับชัยชนะ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา สมัยที่ 2 จากนโยบายหาเสียงที่จะทำให้ “สหรัฐอเมริกา กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง” ที่แต่ละนโยบายที่ประกาศออกมาล้วนเขย่าขวัญสั่นประสาท นักลงทุนทั่วโลก!!
โดยเฉพาะนโยบายสร้างสงครามการค้า โดยการประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากทุกประเทศทั่วโลกที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้านำเข้าจากจีน ที่สหรัฐฯขาดดุลการค้าสูงสุด ทำให้คาดการณ์ว่าความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นนี้ จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯอาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกรวมทั้งเศรษฐกิจไทยจะเติบโตลดลง ที่คาดการณ์จะโตต่ำอยู่แล้ว ยิ่งต่ำลงไปอีก...!!
ขณะที่ปัจจัยภายในประเทศไทยเอง ก็ยังลูกผีลูกคน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจ กำลังหมดพลัง อ่อนแรง ต่อเนื่องมาจากปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำที่สุดในภูมิภาค การท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ การลงทุนภาคเอกชนถดถอย การบริโภคและการใช้จ่ายของภาคเอกชนและประชาชนลดลง หมดกำลังซื้อ ท่ามกลางหนี้ครัวเรือนสูงชนเพดาน นโยบายแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐไม่เห็นผลตามที่คาดหวัง การลงทุนใช้จ่ายของภาครัฐก็ยังล่าช้า ท่ามกลางเสถียรภาพทางการเมืองที่เปราะบาง
จึงไม่แปลกใจที่ตลาดหุ้นไทยในปี 2568 ผ่านมา ยังไม่ผ่าน 4 เดือนแรก ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ปรับตัวลงไปแล้วร่วม 20% เป็นการปรับตัวลงต่อเนื่อง 6 เดือนติดต่อกัน โดยหากเทียบดัชนีปิดสิ้นปี 2567 ซึ่งอยู่ที่ 1,400.21 จุด ล่าสุด 12 เม.ย.68 ปิดตลาดอยู่ที่ 1,128.66 จุด ถือว่านับจากต้นปีดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงไปแล้วถึง 271.55 จุด หรือลดลง 19.39% ราคาหุ้นที่ลดลง ส่งผลให้มูลค่าตลาดหลักทรัพย์ราคาตลาดรวม หรือมูลค่ามาร์เกตแคป ที่แสดงถึงความมั่งคั่งของนักลงทุนหายวับไปแล้วถึง 3.48 ล้านล้านบาท จากมูลค่ามาร์เกตแคปสิ้นปี 2567 มีมูลค่า 17.43 ล้านล้านบาท ล่าสุด ลดลงเหลือ 13.95 ล้านล้านบาท ภายในเวลาเพียง 3 เดือนครึ่งเท่านั้น!!
“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ไทย อดีตประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้มุมมองว่า ตลาดหุ้นไทยถูกกดดันจากหลายปัจจัยทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีแนวโน้มเติบโตช้า และยังโดนแรงขายจากกองทุน LTF หลังสามารถไถ่ถอนได้ทั้งหมดปีนี้เป็นปีแรก ซึ่งมีเม็ดเงินของกองทุน LTF ค้างอยู่ในตลาดหุ้นกว่า 1.8 แสนล้าน และปัจจัยลบที่สำคัญที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้คือ นโยบายการขึ้นภาษีการค้าของทรัมป์ที่สร้างความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก
สำหรับประเทศไทยที่โดนอัตราภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) สูงถึง 36% ซึ่งสูงกว่าที่หลายฝ่ายประเมินไว้เพียง 5-10% เท่านั้น และสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีดังกล่าวกับนานาประเทศที่ 30% ขณะที่สหรัฐฯ และจีนมีการตอบโต้ระหว่างกัน ส่งผลให้สหรัฐฯ มีการขึ้นภาษีสินค้าจีนสูงถึง 145% และจีนขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ที่ 125%
แน่นอนว่า การที่สหรัฐฯขึ้นภาษีนำเข้าสูงถึงระดับนี้ ถึงแม้จะมีการลดลงชั่วคราวเป็น 10% สำหรับทุกประเทศยกเว้นจีน และเปิดทางการเจรจา 90 วัน แต่ความเสียหายได้เกิดขึ้นแล้ว ในแง่ของมูลค่าหุ้นทั่วโลกที่ลดลงกว่า 5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับจากวันที่สหรัฐฯประกาศอัตราภาษีตอบโต้ (2 เมษายน) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้การบริโภคมีแนวโน้มลดลง รวมทั้งแนวโน้มการค้าโลกและการลงทุนตรง ก็มีทิศทางชะลอตัวด้วยเช่นกัน ผลของความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ซึ่งทั้งหมดนี้นำไปสู่แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่จะขยายตัวลดลงกว่าเดิม และบางประเทศที่พึี่งพาการส่งออกสูงอาจถึงขั้นเข้าสู่ภาวะถดถอยได้
“สำหรับประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง เพราะรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการของไทยมีสัดส่วนสูงถึง 65% ต่อ GDP นอกจากนั้น ตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยคือ สหรัฐฯ ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึง 18% ของยอดการส่งออกทั้งหมด ดังนั้น ถ้าการค้าโลกชะลอตัวรุนแรง หรือการเจรจากับสหรัฐฯไม่คืบหน้า โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับ 1% หรือต่ำกว่านั้นมีมากทีเดียว” ไพบูลย์กล่าวตลาดซึมซับรับข่าวร้ายไปมากแล้ว
สำหรับทิศทางตลาดหุ้นไทยนั้น “ไพบูลย์” ประเมินว่า ในระยะสั้น หลังจากที่ราคาหุ้นซึมซับข่าวร้ายไปมากแล้วตั้งแต่ต้นปี สะท้อนใน SET Index ปัจจุบันที่อยู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี เทรดที่ P/BV ที่ 1 เท่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยในไตรมาส 2 คาดว่าจะเริ่มตั้งหลักได้ และมีแนวโน้มฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง แต่นักลงทุนยังจำเป็นต้องติดตามการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และไทย รวมทั้งนานาประเทศ ซึ่งคาดหวังว่าจะทยอยมีพัฒนาการในเชิงบวกออกมาเป็นระยะ ถ้าการเจรจาเกิดสะดุด หรือไม่เป็นตามคาด ตลาดหุ้นมีโอกาสซึมลงอีก แต่ข้อดีคือที่ระดับปัจจุบันของ SET Index น่าจะมี downside risk หรือความเสี่ยงขาลงเล็กน้อยเท่านั้น!!
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนทั้งในและต่างประเทศในระยะสั้น ดังนี้
1.การซื้อหุ้นคืน-นับตั้งแต่ต้นปี มีบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) หลายแห่งประกาศซื้อคืนหุ้นรวมวงเงินกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงกว่ามูลค่าการซื้อหุ้นคืนในปีที่แล้วทั้งปี ซึ่งจะส่งผลดีต่อราคาหุ้นโดยตรง และแนวโน้มการซื้อหุ้นคืนในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
2.เม็ดเงินกองทุนหุ้นยั่งยืนแบบพิเศษ (TESGX) ที่คาดว่าจะไหลเข้าในเดือน พ.ค.-มิ.ย. แม้สถานการณ์ตลาดหุ้นดูแย่ลงนับจากวันที่กระทรวงการคลังออกนโยบายนี้ แต่คาดว่าจะยังคงมีเม็ดเงินไหลเข้า TESGX ราว 1-2 หมื่นล้าน เพราะ SET Index ปรับลดลงมาอยู่ในระดับที่น่าลงทุน ซึ่งก็น่าจะช่วยพยุงตลาดได้ไม่มากก็น้อย
3.แรงขับเคลื่อน ด้านสภาพคล่อง โดยแนวโน้มสภาพคล่องโลก คาดว่าจะสูงขึ้นชั่วคราวในช่วงไตรมาส 2 นี้ หลังจากที่หนี้สหรัฐฯเพิ่มขึ้นชนเพดานแล้ว ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ มีแต่การใช้จ่ายเงินออกไปจากบัญชีเงินฝากหลัก (TGA) ภาพนี้จะคล้ายกับช่วงปี 2566 ที่หนี้สหรัฐฯขึ้นชนเพดาน ทำให้สภาพคล่องในสหรัฐฯสูงขึ้นและขับเคลื่อนหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกว่า 8% ในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งจะช่วยทำให้ sentiment ทั่วโลกดีขึ้น และ 4.การผลักดันร่างกฎหมายลดภาษีของสหรัฐฯ โดยพรรครีพับลิกันเตรียมผลักดันร่างกฎหมายลดภาษีมูลค่า 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ควบคู่กับการตัดงบประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์ ในระยะ 10 ปี คาดว่าจะเห็นความคืบหน้าในช่วงไตรมาส 2 นี้ และมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปีนี้
ผสานกับคาดการณ์ว่าจะเห็นความคืบหน้าของแผนงานของรัฐบาลไทย ในการกระตุ้นศักยภาพทางเศรษฐกิจผ่านโครงการต่างๆ เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การเร่งการใช้จ่ายภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ เช่น การแจกเงินหมื่นในเฟสสุดท้าย ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินที่มากกว่าทุกเฟส คาดจะสนับสนุนการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มรีบาวน์ในระยะสั้น แต่จากความไม่แน่นอนของประธานาธิบดีทรัมป์ ทำให้ตลาดยังมีความผันผวนสูง และภาพทุกอย่างอาจเปลี่ยนไป ถ้าไม่มีความคืบหน้าหลังครบกำหนดผ่อนผันชั่วคราว 90 วัน ดังนั้น การลงทุนจึงควรกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์หลากหลายในรูปแบบของพอร์ตการลงทุน
“ไพบูลย์” ได้ให้คำแนะนำนักลงทุน สำหรับการลงทุนในตลาดหุ้นไทยช่วงนี้ว่า ยังเน้นหุ้นที่อิงเศรษฐกิจในประเทศที่มีกำไรเติบโตและได้รับผลกระทบจำกัดจากสงครามการค้า กลุ่มอุตสาหกรรมที่แนะนำ “เพิ่มน้ำหนักลงทุน” ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล หุ้นกลุ่มค้าปลีก, หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า และหุ้นกลุ่มรับเหมาประกอบกับหุ้นบลูชิพ คุณภาพดีที่มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอแนะเร่งปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ
แต่สำหรับในระยะยาว ตลาดหุ้นไทยยังน่าห่วง จากปัจจัยเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็น เศรษฐกิจไทยที่เติบโตช้า และมีแนวโน้มเติบโตช้าลงอีก ถ้าสงครามการค้ารอบนี้จบลงไม่ดี กำไรบริษัทจดทะเบียนที่ถดถอยตลอด 4 ปีที่ผ่านมา และโอกาสกลับมาขยายตัวในช่วง 1-2 ปีข้างหน้ายังมีไม่มาก รวมทั้งบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ยังเป็นบริษัทประเภทเศรษฐกิจเก่า
ดังนั้น ต้องเร่งปฏิรูปเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง และให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างรายได้ GDP ให้พึ่งพาเศรษฐกิจภายในมากขึ้น คือคำตอบที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมามีเสน่ห์อีกครั้ง รวมทั้งการกระตุ้นให้คนไทยลงทุนอย่างสม่ำเสมอในตลาดทุนไทยผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแบบถาวร ไม่ใช่แบบชั่วคราวเหมือนที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นโอกาสที่จะเห็นตลาดหุ้นไทยอยู่ในวังวนเดิมๆ และอาจกลายเป็นอีกทศวรรษที่หายไป มีสูงมาก.
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่