ตลาดหุ้นไทยเจอแรงขายอย่างหนักในช่วงเปิดการซื้อขายโดยได้รับความกังวลมาจากนายเจอโรม เพาเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) ที่ให้ความเห็นว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยในระดับสูงกว่าที่คาดไว้ และยังเร็วเกินไปที่จะไว้ใจเงินเฟ้อ ส่งผลต่อแรงเทขายหุ้นขนาดใหญ่ในหลายหลักทรัพย์และร่วงทำจุดต่ำสุดที่ 1,599.87 จุด หรือลดลง 18.64 จุด ก่อนจะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงบ่ายส่งผลให้ดัชนีปิดการซื้อขาย 1,612,60 จุด ปรับตัวลดลง 5.91 จุด หรือ 0.37%%
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ประเมินว่า ภาพความเคลื่อนไหวของตลาดสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกจะยังคงอ่อนไหวกับถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐที่จะมีออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์จะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงเดือน มิ.ย.นี้ ที่จะชัดเจนว่าการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะมีทิศทางอย่างไร
“ตลาดการเงินทั่วโลกจะยังคงอ่อนไหวกับความเห็นของธนาคารกลางสหรัฐ จนถึงช่วงกลางปีนี้ที่เราจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นว่า เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อ หรือ จะไม่ปรับขึ้นอย่างที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้”
สำหรับแนวโน้มความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นไทยนั้น ยังจะคงได้รับผลกระทบจากความไม่ชัดเจนของการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ในขณะเดียวกันประเทศไทยยังมีความแข็งแกร่งเฉพาะตัว อย่างการท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้น่าจะช่วยสร้างความโดดเด่นให้กับตลาดหุ้นไทยได้
โดยในช่วงเดือน ม.ค. มีนักท่องเที่ยวเข้ามายังประเทศไทย 2.1 ล้านคน โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวที่น่าจับตา คือ นักท่องเที่ยวรัสเซียที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทยสูงเป็นอันดับที่ 2 เป็นผลสำคัญจากการโดนแซงก์ชันจากทางฝั่งยุโรป ซึ่งการท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องจักรสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทย ส่วนการส่งออกยังต้องจับตาว่าจะมีแนวโน้มอย่างไร
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าห่วง คือ การเข้าใกล้ช่วงการเลือกตั้งที่จะส่งผลกระทบต่อนโยบาย โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวที่จะขาดนโยบายการสนับสนุนในช่วงใกล้เลือกตั้ง เช่นเดียวกับการลงทุนภาครัฐที่จะต้องเว้นว่างในช่วงเวลาดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นภาครัฐควรหานโยบายที่จะสนับสนุนในช่วงช่องว่างดังกล่าวด้วย
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ผลสำรวจในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 121.13 ปรับตัวลดลง 24.3% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ “ร้อนแรง” นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการเลือกตั้งในประเทศและการไหลเข้าของเงินทุน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อการกลับมาแพร่ระบาดของ Covid-19 หลังนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น รองลงมาคือสัดส่วนหนี้ภาคครัวเรือน และสถานการณ์การเมืองในประเทศก่อนการเลือกตั้ง
นางสาวพิมพ์พันธ์ เจริญขวัญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา เงินบาทและสกุลเงินภูมิภาคเคลื่อนไหวผันผวนทั้ง 2 ทิศทางตามภาวะตลาดการเงินโลก จากปัจจัยความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นในการดำเนินนโยบายการเงินสหรัฐฯ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนหลังการเปิดประเทศ ทั้งนี้ การแถลงของประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ต่อคณะกรรมาธิการประจำวุฒิสภาในช่วงข้ามคืนเป็นการส่งสัญญาณว่า FED อาจขึ้นดอกเบี้ยได้เร็วและมากกว่าคาด หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังสะท้อนความแข็งแกร่งและเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง ซึ่งส่งผลให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า FED อาจกลับมาดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น และทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปรับแข็งค่าขึ้น 1.2% ขณะที่เงินบาทปรับอ่อนค่าลง 1.5% ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลภูมิภาคที่อ่อนค่าระหว่าง 0.3%-1.7%
ด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายโดยรวมตั้งแต่ต้นปี 2566 นักลงทุนต่างชาติมีฐานะขายสุทธิในสินทรัพย์ไทยประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ โดยเป็นการขายสุทธิในตลาดพันธบัตรที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์ และตลาดหุ้น 0.8 พันล้านดอลลาร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 3 มี.ค. 2566)
ในระยะข้างหน้า ตลาดการเงินโลกและค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนสูงโดยเคลื่อนไหวได้ทั้ง 2 ทิศทาง จากการปรับเปลี่ยนการดำเนินนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ ภาคเอกชนจึงควรพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินที่ยังคงอยู่ในระดับสูง