ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 7 ก.ค.65 ปิดที่ 1,562.37 จุด เพิ่มขึ้น 20.58จุด มีมูลค่าซื้อขาย 65,952.95 ล้านบาท ต่างชาติซื้อสุทธิ 1,812.16 ล้านบาท
หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด CPALL ปิด 64 บาท บวก 2 บาท, PTTEP ปิด 156.50 บาท บวก 1 บาท, KBANK ปิด 146 บาท ลบ 1.50 บาท, PTT ปิด 34.75 บาท บวก 0.75 บาท, SCB ปิด 99 บาท ลบ 1 บาท
บล.โกลเบล็ก ประเมินทิศทางหุ้นไทยเดือน ก.ค.65 แกว่งผันผวนลักษณะ Sideway Down นักลงทุนยังกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดแบบจำลองคาดการณ์ GDP Now แสดงว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯหดตัว 2.1% ในไตรมาส 2/65 จากเดิมที่บ่งชี้ว่ามีแนวโน้มหดตัว 1.0% หดตัวแรงกว่าคาดการณ์เดิมและไตรมาส 1 ที่หดตัว 1.6% บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เห็นได้จากทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯทรงตัวสูง
ส่วนภาพรวมในประเทศ กกร.ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 65 ลดเหลือ 2.75-3.5% จากเดิม 2.5-4.0% ขณะที่ส่งออกปรับเพิ่มเป็น 5-7% จากเดิม 3-5% และปรับเพิ่มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็น 5.0-7.0% จากอัตราเงินเฟ้อทุกประเทศทั่วโลกทรงตัวในระดับสูง เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานที่สูงขึ้น กดดันธนาคารกลางแต่ละประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ
สำหรับ ไทยรายงานดัชนี CPI ทั่วไปเดือน มิ.ย. ขยายตัว 7.66% ขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวลงแรง กดดันหุ้นกลุ่มพลังงาน จึงคาดการณ์การเคลื่อนไหวดัชนีในกรอบ 1,500–1,570 จุด
ขณะที่ปัจจัยในประเทศที่ยังต้องจับตา คือแผนรับมือไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล การประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 2/65 และครึ่งปีแรกของหุ้นธนาคาร
แนะกลยุทธ์ลงทุนทยอยสะสมในจังหวะที่ตลาดปรับลงแรง ใน 3 กลุ่มเด่น
1.หุ้นที่ได้ประโยชน์จากแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของ กนง.และหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก ธปท.เลิกเพดานจ่ายปันผลของแบงก์พาณิชย์และทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ได้แก่ KBANK, SCB, BBL, KTB และ TISCO
2.หุ้นได้อานิสงส์จากมติ ครม.ให้ยกเว้นภาษี VAT สำหรับผู้ประกอบการ Data Center ได้แก่ ICN, ITEL, MFEC และ INSET.
3.หุ้นได้ประโยชน์จากความกังวลการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ได้แก่ BH, BDMS, CHG, BCH, PRINC และ WPH!!
อินเด็กซ์ 51