ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 13 มิ.ย.65 ปิดที่ 1,600.06 จุด ลดลง 32.56 จุด มีมูลค่าซื้อขาย 73,466.76 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 2,596.99 ล้านบาท
หุ้นไทยดิ่งเหวตามหุ้นโลกผวาเงินเฟ้อสูงกดดันเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่คิดขณะที่เงินทุนจ่อไหลออก หลังเผชิญหลายปัจจัยกดดัน
โดย บล.เอเซียพลัส เปิด 4 ปัจจัยกดดันให้ Fund Flow ไหลออก คือ 1.ตลาดคาดเฟดมีโอกาสใช้นโยบายการเงินเข้มข้นขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างหรือ Spread ดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯกว้างขึ้น อาจส่งผลให้ กนง.มีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยตาม เพื่อสกัดค่าเงินบาทอ่อนและเงินเฟ้อ ซึ่งหาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25% กดดันเป้าหมายดัชนีตลาดรวมลดลง 88 จุด และหากขึ้นดอกเบี้ย 0.75% กดดันเป้าหมายดัชนีลง 240 จุด ทำให้ดัชนีเป้าหมายปีนี้ลงมาอยู่ที่ 1,570 จุด
2.เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าต่อ กดดันให้ต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น และหาก Spread ดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯกว้างขึ้น กดดันให้เม็ดเงินไหลกลับไปสู่ตราสารหนี้หรือสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อ จากล่าสุดอ่อนค่าขึ้นมาอยู่ที่ 34.84 บาท/เหรียญ เกือบสูงสุดรอบ 5 ปี 3 เดือน
3.การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เพื่อสกัดสินค้าราคาแพง อาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทยอยย่อตัวลง แต่ตลาดหุ้นไทยมีสัดส่วนหุ้นที่อิงกับราคา Commodity ถึง 1 ใน 3 อาจกดดันให้ Fund Flow ที่เคยไหลเข้าหุ้นกลุ่มนี้ชะลอลง
4. ความกังวลว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ Recession ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณเตือน จากการเกิด Inverted Yield Curve (อัตราผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยของพันธบัตรระยะสั้นสูงกว่าระยะยาว) เพิ่มขึ้น ล่าสุด Bond Yield สหรัฐฯระยะสั้น เร่งขึ้นมาเร็วจน Bond Yield 5 ปี ขึ้นแซง 30 ปี และ Bond Yield 2 ปี 3.06% เพิ่มเข้าใกล้ 10 ปี ที่ 3.16% (ห่างกันเพียง 10 bps.) ซึ่งเวลาเกิด Inverted Yield Curve ทีไร Fund Flow มักจะไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงและหุ้นไทยเสมอ
ปัจจัยทั้งหมดนี้เป็นความเสี่ยงที่ Fund Flow มีโอกาสขายทำกำไรหุ้นไทยในบางช่วงเวลา และมีโอกาสพลิกกลับมาไหลออก เมื่อเทียบกับการไหลเข้าในช่วงต้นปี
แนะกลยุทธ์ถือเงินสด 10–20% ส่วนเงินลงทุนแนะหุ้นที่มีเกราะป้องกันดอกเบี้ยขาขึ้นอย่าง BLA (ได้แรงหนุนจาก Bond Yield ขยับขึ้นเร็ว), หุ้นเปิดเมืองผันผวนต่ำอย่าง BH (ได้ประโยชน์บาทอ่อน) รวมทั้งหุ้น BEM (ได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ)
อินเด็กซ์ 51