นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และประธานสภาธุรกิจตลาดทุน โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความเห็นในประเด็นว่า เศรษฐกิจถดถอย ตลาดหุ้นกระทิง...ผิดปกติหรือไม่ หลังตลาดหุ้นไทยทะยานขึ้น 50% จากช่วงกลาง มี.ค.จนถึงต้น มิ.ย. ทำให้เกิดคำถามมากมายว่าเกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้น ทำไมถึงโตสวนทางเศรษฐกิจที่อยู่ในภาวะถดถอยรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2540-2541 และเริ่มมีเสียงเตือนออกมาให้นักลงทุนระวังแรงเทขาย เพราะราคาหุ้นปรับขึ้นแซงหน้าปัจจัยพื้นฐานไปมาก
ทำให้หลังจากนั้นในช่วงเพียงสัปดาห์เศษที่ผ่านมา หุ้นไทยก็ปรับลงถึง 110 จุด มูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) หายไป 1 ล้านล้านบาท สวนทางกับสถานการณ์โควิดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในประเทศนานต่อเนื่องถึง 3 สัปดาห์ และเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นจากมาตรการคลายล็อกทั้ง 4 ระยะ โดยความผันผวนที่รุนแรง ถือเป็นภาวะปกติของตลาดหุ้นในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ เพราะความไม่แน่นอนมีสูง ทำให้การประเมินมูลค่าหุ้นทำได้ยากมาก เวลาหุ้นลงก็มักจะลงมากไป เวลาขึ้นก็ขึ้นมากไป การเทรดหุ้นระยะสั้นๆ ในภาวะแบบนี้ถือว่ามีความเสี่ยงสูงมาก เพราะไม่มีใครบอกได้ว่าจุดต่ำสุดและสูงสุดของราคาหุ้นในแต่ละรอบอยู่ที่ไหน “โดยส่วนตัว ผมยังเชื่อว่าเราอยู่ในตลาดหุ้นขาขึ้นระยะยาว และมองการปรับลงรอบนี้เป็นการปรับฐานเพื่อหาจุดสมดุลใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่นักลงทุนไม่จำเป็นต้องตื่นตระหนก ผมเชื่อว่าตลาดหุ้นได้สะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแบบรูปตัว U ไปแล้ว และถ้าดูจากมูลค่าตลาดหุ้นที่ลดลงไปเกือบ 2 ล้านล้านบาท (จาก 12 เดือนก่อนหน้านี้) ซึ่งลดลงมากกว่ามูลค่าจีดีพีที่คาดว่าจะลดลง 1 ล้านล้านบาท ในปีนี้ถึงเท่าตัว ทำให้มองว่าราคาหุ้นที่ลงไปมากขนาดนี้ น่าจะสะท้อนความเสียหายของวิกฤติครั้งนี้ไปพอสมควรแล้ว”
และถึงแม้ค่า Forward P/E ปีหน้าของตลาดหุ้นไทยที่ 16 เท่า อาจดูแพงเมื่อเทียบกับบางประเทศ แต่ก็อยู่ในระดับเดียวกับค่าเฉลี่ยในอดีต 10 ปีของตลาดหุ้นไทยที่ 16 เท่าและต้องไม่ลืมด้วยว่าอัตราดอกเบี้ยในประเทศอยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งแปลว่า Forward P/E ในปัจจุบันอาจไม่สูงเกินไป นอกจากนั้นนักวิเคราะห์ยังได้ลดประมาณการกำไรของบริษัทจดทะเบียนไปแล้วถึง 30% ซึ่งน่าจะสะท้อนความเสียหายจากวิกฤติครั้งนี้ไปพอสมควรแล้ว และหากดูจากปริมาณสภาพคล่องในระบบการเงินที่เพิ่มขึ้นมหาศาลทั้งในและต่างประเทศ จากการผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างเต็มสูบของธนาคารกลางทั่วโลก โอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินเหล่านี้ทยอยไหลเข้าตลาดหุ้นในระยะยาวมีสูงมาก รวมทั้งเชื่อว่าจะเห็นการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้นของ Pension Funds (กองทุนบำเหน็จบำนาญ) ทั่วโลก เพราะภาวะดอกเบี้ยต่ำที่จะอยู่ไปอีกหลายปี แปลว่ากองทุนเหล่านี้จำเป็นต้องเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้น เพื่อสร้างผลตอบแทนให้กับผู้เกษียณ.