ดัชนีหุ้นไทยวันที่ 19 มี.ค.63 ปิดที่ 1,044.19 จุด ลดลง 3.96 จุด มีมูลค่าการซื้อขาย 61,601.05 ล้านบาท ต่างชาติขายสุทธิ 3,125.45 ล้านบาท
หุ้นมูลค่าซื้อขายสูงสุด BAM ปิด 17.50 บาท บวก 1.10 บาท, PTT ปิด 25.75 บาท ลบ 0.75 บาท, ADVANC ปิด 190 บาท บวก 10 บาท, GULF ปิด 137.50 บาท บวก 8 บาท, CPALL ปิด 59.50 บาท ลบ 0.50 บาท
บล.เอเซียพลัสออกบทวิเคราะห์ “กองทุนพยุงหุ้น ช่วยตลาดได้แค่ไหน” โดยเริ่มจากรวบรวมมาตรการต่างๆที่ภาครัฐออกมาแล้ว คือ 1.กองทุน SSF เงื่อนไขพิเศษ คล้ายกับกองทุน LTF
แต่มีเวลาการถือครอง 10 ปี โดยเริ่มซื้อหน่วยลงทุน เม.ย.-มิ.ย. 63 2.ตลาดฯปรับเกณฑ์เพื่อลดความผันผวนตลาด โดยกำหนดให้ Short Sell หุ้นได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย ช่วยพยุงให้ราคาหุ้นปรับฐานไม่เร่งตัวเร็วเท่าอดีตที่ผ่านมา
3.ปรับเกณฑ์ Circuit breaker โดยหาก SET Index ลดลง 8% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที, หากลดลง 15% จะหยุดซื้อขาย 30 นาที และหากลดลง 20% จะหยุดซื้อขาย 60 นาที จากนั้นจะเปิดซื้อขายต่อจนถึงสิ้นวัน 4.ปรับเกณฑ์ราคาซื้อขายสูงสุด-ต่ำสุดในแต่ละวัน (Floor-Ceiling) เหลือ +/-15% จากเดิม 30% โดยเกณฑ์ใหม่บังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค.-30 มิ.ย.63
ล่าสุดรัฐบาลเตรียมจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้น โดยจะนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.วันที่ 24 มี.ค.นี้ เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพให้ตลาดทุน ซึ่งรัฐบาลระบุว่า การระดมทุนนี้ไม่จำเป็นต้องใช้เงินภาษีของประชาชน
แต่ใช้การระดมเงินจากการตั้งกองทุนใหม่ หรือใช้กองทุนวายุภักษ์เดิม เพิ่มเงินลงทุนเข้ามาสนับสนุนอีก 1 แสนล้านบาท โดยขายหน่วยลงทุนให้สถาบันและรายย่อย 20-30 วัน ทั้งนี้ นโยบายการลงทุนจะเน้นหุ้นที่อยู่ใน SET 50 และ SET 100
โดยอดีตตอนที่มีการตั้งกองทุนวายุภักษ์ พบว่า ปี 35 และ 46 มีการตั้งกองทุนพยุงหุ้นวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท และ 1 แสนล้านบาท พบว่าช่วยหนุน SET Index ปรับขึ้นในช่วง 3 เดือน หลังตั้งกองทุน 16.7% และ 20% ตามลำดับ
และหากเปรียบเทียบกับปัจจุบัน ตลาดหุ้นไทยมี Market Cap. ราว 12 ล้านล้านบาท ซึ่งใหญ่กว่าอดีตในช่วงปี 35 และ 46 มาก ดังนั้นหากจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นด้วยเม็ดเงินที่เท่ากับปี 35 คือ 1 แสนล้านบาท อาจมีประสิทธิภาพในการพยุงตลาดหุ้นได้ไม่มากเท่าในอดีต!!
อินเด็กซ์ 51