นับถอยหลัง 90 วัน Reciprocal Tariff  “หายนะ” โลก

Experts pool

Columnist

Tag

นับถอยหลัง 90 วัน Reciprocal Tariff “หายนะ” โลก

Date Time: 18 เม.ย. 2568 19:09 น.

Video

Telegram ทำเงินยังไง ? โมเดลธุรกิจที่รวยได้ โดยไม่ขายข้อมูลผู้ใช้ | Digital Frontiers EP.40

Summary

  • วันที่ 9 เม.ย. 2568 ทรัมป์ได้ประกาศเลื่อนการจัดเก็บ Reciprocal Tariff ของแต่ละประเทศออกไปชั่วคราว 90 วัน ยกเว้นจีนที่เพิ่มเป็น 125% มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 68 และเพิ่มเป็น 145% สาเหตุที่เลื่อนออกไปชั่วคราว อ้างว่ามีคู่ค้ากว่า 75 ประเทศที่ขอเจรจาขอให้สหรัฐฯ ปรับลดอัตราภาษีต่างตอบแทนลง โดยจะดำเนินการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายการค้าสหรัฐฯ และเลิก “เอาเปรียบ” ส่วนไทยก็ขอเจรจาเช่นกัน

Latest


2 เม.ย. 2568 ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐฯ เรียกว่าเป็น “วันปลดแอกภาษี” ของสหรัฐฯ จากประเทศคู่ค้า

เพราะได้ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) กำหนดอัตราภาษีต่างตอบแทน (Reciprocal Tariff) หรือ “ภาษีตอบโต้” ประเทศคู่ค้า ที่ทำการค้ากับสหรัฐฯ อย่าง “ไม่เป็นธรรม”

โดยกำหนดเก็บภาษีอัตราใหม่เป็น 2 รอบ

  • รอบแรกเก็บเพิ่ม 10% เท่ากันทุกประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. 2568
  • รอบ 2 เก็บตามอัตราที่กำหนดสำหรับแต่ละประเทศ มีผลวันที่ 9 เม.ย. 2568

ก่อให้เกิดความสับสนอลหม่านในวงการการค้าโลก และการค้าของไทยเป็นอย่างมาก เพราะแต่ละประเทศถูกกำหนดอัตราภาษีในระดับสูงมากกว่าที่อัตราในปัจจุบัน

และยังเป็น “ชนวน” ทำให้ “สงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐฯ และจีน รุนแรงขึ้นอย่างมาก เพราะทั้ง 2 ประเทศได้ใช้มาตรการตอบโต้กันไปมา และเก็บภาษีนำเข้าสินค้าของกันและกันในอัตราสูงเกินจริงมาก

อย่างล่าสุด จีนถูกเก็บภาษี Reciprocal Tariff สูงถึง 145% และสินค้าบางรายการยังถูกเก็บถึงกว่า 245% ขณะที่จีนก็ตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ สูงถึง 125%

สำหรับไทย ซึ่งได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ มาตลอดหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดปี 2567 อยู่ที่กว่า 45,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ติดอันดับที่ 11 ประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐฯ สูงสุดในโลกนั้น ถูกกำหนดอัตราจัดเก็บที่ 36%

อัตรานี้ยังไม่รวมกับภาษีนำเข้า และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่สหรัฐฯ เรียกเก็บจากไทยอยู่ก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม วันที่ 9 เม.ย. 2568 ทรัมป์ได้ประกาศเลื่อนการจัดเก็บ Reciprocal Tariff ของแต่ละประเทศออกไปชั่วคราว 90 วัน ยกเว้นจีนที่เพิ่มเป็น 125% มีผลตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. 68 และเพิ่มเป็น 145%

สาเหตุที่เลื่อนออกไปชั่วคราว อ้างว่ามีคู่ค้ากว่า 75 ประเทศที่ขอเจรจาขอให้สหรัฐฯ ปรับลดอัตราภาษีต่างตอบแทนลง โดยจะดำเนินการต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบายการค้าสหรัฐฯ และเลิก “เอาเปรียบ”

ส่วนไทยก็ขอเจรจาเช่นกัน โดยรัฐบาลได้กำหนดแนวทางเจรจากับสหรัฐฯ พร้อมแนวทางเยียวยา ลดผลกระทบที่จะเกิด หากต้องนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เพิ่มเติม หรือนำเข้าสินค้าที่ไม่เคยนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ซึ่งอาจกระทบต่อภาคเกษตรในประเทศ และเตรียมพร้อมเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อเจรจาต่อรองทันที

“แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ว่า วันที่ 23 เม.ย. นี้ “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง พร้อมคณะจะเดินทางไปสหรัฐฯ เพื่อพูดคุยกับระดับรัฐมนตรี และยืนยันว่า

“ข้อเจรจาที่ไทยจะนำไปต่อรองกับสหรัฐฯ ค่อนข้างแข็งแรง และมั่นใจว่าจะเป็นผลบวกและเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ จะพูดคุยกันอย่างแฟร์ๆ ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์มายาวนาน เชื่อว่าน่าจะเป็นผลดี”

นอกจากไทยจะเจรจากับสหรัฐฯ แบบ “ตัวต่อตัว” แล้ว ยังจะจับมือกับ “อาเซียน” ช่วยกันเจรจาด้วย เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และความมั่นคงห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค

สำหรับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ครั้งนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบต่อไทย และต่อโลกอย่างหนักหน่วง โดยองค์การการค้าโลก (WTO) ได้ปรับคาดการณ์การค้าโลกในปีนี้ใหม่ เป็นติดลบ 0.2% จากเดิมคาดที่ประเมินไว้เมื่อเดือน ต.ค. 2567 จะขยายตัว 3%

แต่หากสหรัฐฯ ยังยืนยันเก็บภาษีต่างตอบแทนจากแต่ละประเทศในระดับเดิม จะทำให้การค้าโลกปีนี้ ติดลบ 1.5% ได้ และประเทศพัฒนาน้อยที่สุด จะได้รับผลกระทบหนักสุด

นอกจากนี้ ยังอาจทำให้การค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนในปีนี้ลดลงถึง 81% และอาจลดลงมากถึง 91% หากสหรัฐฯ ไม่ลดภาษีสินค้าบางประเภท เช่น สมาร์ทโฟน แต่จะเป็นโอกาสของประเทศผู้ส่งออกอื่นๆ ทดแทนจีน และอาจทำให้การส่งออกของจีนไปภูมิภาคอื่นนอกภูมิภาคอเมริกาเหนือ เพิ่มขึ้น 4-9%

การที่ 2 ยักษ์ใหญ่ลดการพึ่งพาการค้าระหว่างกัน อาจนำมาซึ่งการแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงขึ้นตามแนวภูมิรัฐศาสตร์ และโลกจะแบ่งออกเป็น 2 ขั้วอำนาจที่โดดเดี่ยวจากกัน!!

ขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ตอกย้ำให้เห็นว่า นโยบายภาษีของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเงินไทย ผ่าน 5 ช่องทาง ได้แก่

  1. ตลาดการเงิน
  2. การลงทุน
  3. การส่งออก
  4. การแข่งขันที่จะรุนแรงขึ้น
  5. เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลง และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้ ผลกระทบยังไม่ชัดเจน เพราะอยู่ในช่วง 90 วัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วกับไทย คือ ผู้ซื้อสหรัฐฯ บางส่วน wait and see รอดูความชัดเจนของภาษีใหม่ภายหลังการเจรจาต่อรองของแต่ละประเทศ ขณะที่บางรายติดต่อขอซื้อเข้ามาแล้ว แต่ก็ขอให้ลดราคาลงด้วย

นับจากนี้ ต้องรอดู “ฝีมือ” ของทีมเจรจาของไทย จะสำเร็จตามคาดหวังหรือไม่??

หากเจรจาต่อรองกันแล้ว ภาษีใหม่ของไทยสูงกว่าคู่แข่ง ไทยจะเสียเปรียบการแข่งขันทันที เพราะราคาสินค้าไทยจะแพงกว่าของคู่แข่ง ผู้บริโภคสหรัฐฯ จะซื้อสินค้าที่ถูกกว่าแทน ทำให้ส่งออกไทยในปีนี้ลดลง

หรือหากภาษีใหม่ของทุกประเทศยังอยู่ในอัตราสูง ราคาสินค้าในสหรัฐฯ ก็จะแพงขึ้น ผู้บริโภคสหรัฐฯ จะลังเลซื้อแน่นอน เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งจะทำให้การส่งออกไทยลดลงได้อีก

จากเป้าหมายปีนี้ที่ตั้งไว้ขยายตัว 1-3% ซึ่งจะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย ที่ปีนี้ รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ที่ 3% ภายใต้การส่งออกโต 4%

โดยสินค้าเกษตร อย่าง ข้าว ยางพาราและผลิตภัณฑ์ อาหารกระป๋องและแปรรูป ที่ใช้วัตถุดิบในประเทศ (Local Content) ล้วนๆ จะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ และเกษตรกรก็จะเจ็บหนัก

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม ที่ส่งออกไปสหรัฐฯ มากๆ อย่าง อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยานยนต์ ฯลฯ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบนั้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนของต่างชาติ และมีบางส่วนที่เป็นเอสเอ็มอีไทยด้วย

เมื่อผู้ส่งออกมีรายได้จากการส่งออกน้อยลง ก็จะไม่มีเงิน หรือมีเงินน้อยลง มาหมุนเวียนในธุรกิจ ไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงาน อาจเห็นภาพการลดเวลาทำงาน ลดเงินเดือน หรืออาจเลิกจ้างในที่สุด

ชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ที่แบกหนี้หลังแอ่น รายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว ต้องย่ำแย่ลงไปอีก

และหากสถานการณ์เช่นนี้ เกิดขึ้นทั่วโลก ผู้คนก็จะไม่มีเงินใช้จ่ายสำหรับการท่องเที่ยวเหมือนตอนเศรษฐกิจเฟื่องฟู ทำให้การท่องเที่ยวของแต่ละประเทศได้รับผลกระทบ ส่งผลต่อเนื่องทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ลงอีก

ส่วนไทยไม่ต้องพูดถึง ท่องเที่ยวเป็นรายได้หลักของประเทศ ก็จะได้รับผลกระทบ และฉุดให้เศรษฐกิจปีนี้ลดลง รัฐบาลทุ่มเงินเพื่อทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไรก็คงไม่เพียงพอ

“การปลดแอกภาษี” ของสหรัฐฯ อาจไม่ได้ทำให้สหรัฐฯ กลับมายิ่งใหญ่ Make America Great Again เหมือนเดิม แต่อาจจะทำให้โลก รวมถึงสหรัฐฯ “หายนะ” ได้!!

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ