รัฐไล่ล่า “นอมินี-บัญชีม้านิติบุคคล” สกัด “สินค้านำเข้าไร้มาตรฐาน”

Experts pool

Columnist

Tag

รัฐไล่ล่า “นอมินี-บัญชีม้านิติบุคคล” สกัด “สินค้านำเข้าไร้มาตรฐาน”

Date Time: 29 พ.ย. 2567 16:20 น.

Video

บัญชีม้า เกลื่อนเมือง คนไทยอยู่อย่างไร ใครต้องรับผิดชอบ ? | Money Issue

Summary

  • “นอมินี-สินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน-บัญชีม้านิติบุคคล” ปัญหาใหญ่ที่ตามหลอกหลอนคนไทยและธุรกิจไทยอย่างไม่หยุดหย่อน สร้างความเสียหายให้กับคนไทย ธุรกิจไทย รวมถึงเศรษฐกิจไทยมหาศาล

Latest


รัฐบาลชุดนี้ต้องการกวาดล้างสิ่งเหล่านี้ให้หมดไปให้ได้อย่างรวดเร็ว “แพทองธาร ชินวัตร” นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งตั้ง “คณะกรรมการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาสินค้าและธุรกิจต่างประเทศที่ฝ่าฝืนกฎหมาย” โดยมี “พิชัย นริพทะพันธุ์” รมว.พาณิชย์เป็นประธาน และมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยกว่า 20 หน่วยงาน

พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งปราบ “อาชญากรรมทางเทคโนโลยี” โดยเฉพาะสกัดการเปิด “บัญชีม้า” และ “บัญชีม้านิติบุคคล” เครื่องมือสำคัญที่มิจฉาชีพนำมาใช้หลอกลวงเหยื่อให้หลงโอนเงินให้ และหลังจากนายกรัฐมนตรีมีคำสั่งดังกล่าว “พิชัย” ได้เรียกประชุมคณะกรรมการนัดแรกเมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2567 และมีมติตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด โดยมี “นภินทร ศรีสรรพางค์” รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งได้แก่

1. คณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยและแก้ไขปัญหาสินค้าที่ไม่มีคุณภาพจากต่างประเทศ

2. คณะอนุกรรมการป้องกันและป้องปรามธุรกิจอำพรางของคนต่างด้าว (Nominee)

โดย “นอมินี” คือ กรณีที่คนไทยทำธุรกรรมอำพรางเพื่อช่วยเหลือให้คนต่างด้าวทำ “ธุรกิจต้องห้าม” หรือ “ธุรกิจที่ต้องขออนุญาต” ประกอบกิจการในไทยภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ได้โดยไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

สำหรับคณะอนุกรรมการทั้ง 2 ชุดนี้ ได้ประชุมกันแล้ว 2 ครั้ง เพื่อวางกรอบและแนวทางในการทำงาน ซึ่งจะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ วันที่ 9 ธ.ค. นี้ พิจารณาเห็นชอบ ก่อนจะรายงานให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบต่อไป

ตรวจสอบเข้มสินค้านำเข้าไร้มาตรฐาน

โดยในส่วนของคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทยฯ นั้น ได้กำหนดกรอบระยะเวลาการทำงานเป็น 3 ระยะ ได้แก่

1. ระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้เห็นผลภายใน 3 เดือน

2. ระยะกลาง ที่จะเริ่มเห็นผลใน 6 เดือน

3. ระยะยาว ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังได้กำหนด 2 มาตรการแก้ปัญหา คือ 1. มาตรการป้องกันและกำกับดูแลสินค้า 3 กลุ่มที่นำเข้าจำนวนมาก นำเข้าอย่างผิดกฎหมาย และไร้มาตรฐาน ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม

โดยระยะสั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะเพิ่มความเข้มงวดตรวจสอบสินค้านำเข้า ที่จะต้องได้มาตรฐาน ทั้งมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรฐานของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มาตรฐานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ฯลฯ

จากการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทำให้การนำเข้าสินค้าที่ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์จากต่างประเทศ ลดลงมาก เหลือมูลค่าเฉลี่ยต่อเดือนเพียง 2,000 ล้านบาทในช่วงเดือน ก.ค.-พ.ย. 2567 หรือลดลง 20% เมื่อเทียบกับก่อนมีมาตรการช่วงเดือน ม.ค.-มิ.ย. 2567 ที่นำเข้าถึงเดือนละ 3,200 ล้านบาท

อีกทั้งยังจับกุมสินค้านำเข้าที่ไม่มีมาตรฐาน มูลค่า 506 ล้านบาท เช่น สินค้าปลอมแปลงเครื่องหมายการค้า อย่างเสื้อผ้า รองเท้า วิตามิน สินค้าเบ็ดเตล็ด รวมถึงสินค้าต้องห้าม อย่างบุหรี่ไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ให้สอดคล้องกับการค้าในอนาคต และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการออนไลน์จากต่างประเทศเข้าระบบ ทั้งจดทะเบียนนิติบุคคล จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในไทย เพื่อให้ภาครัฐตรวจสอบได้ และทำธุรกิจเท่าเทียมกับธุรกิจไทย

ส่วน TEMU แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซจากจีน ได้ยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลในไทย กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้ว เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ขณะที่มาตรการที่ 2 คือ การส่งเสริม พัฒนา และต่อยอด โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนมูลค่าของ SMEs ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จาก 35.2% ในปี 2566 เป็น 40% ภายในปี 2570

กวาดล้างนอมินีให้หมดไปจากประเทศ

สำหรับคณะอนุกรรมการนอมินี ได้กำหนดแผนการทำงานเป็น 3 ระยะเช่นกัน ซึ่งจะดำเนินการให้ได้ภายในไม่เกิน 1 ปี 9 เดือน พร้อมกับกำหนดกลุ่มธุรกิจที่มีความเสี่ยงจะเป็นนอมินี 5 กลุ่ม และกำหนดพื้นที่ในการตรวจสอบ ได้แก่

1.ธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กำหนดพื้นที่เป้าหมายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี สุราษฎร์ธานี และเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ

2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และค้าที่ดิน เน้นพื้นที่ที่เป็นเมืองใหญ่ และที่สอดคล้องกับการท่องเที่ยว

3.ธุรกิจขนส่ง เน้นตามแนวชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านทางภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และตะวันออก เพราะสินค้าจากต่างประเทศจะเข้าสู่ไทยผ่านทางบกตามแนวชายแดน

4.ธุรกิจคลังสินค้า จะเน้นกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะที่เกี่ยวเนื่องกับการค้าออนไลน์

5.ธุรกิจซื้อขายสินค้าเกษตร พื้นที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ ที่เป็นแหล่งปลูกผลไม้เมืองร้อน ซึ่งมีล้ง (ผู้รวบรวม รับซื้อ บรรจุ และส่งออก) จากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการในไทย

โดยระยะสั้น ใช้อำนาจของทุกหน่วยงานในการตรวจสอบ สืบสวน สอบสวนบุคคลหรือธุรกิจเสี่ยง และดำเนินคดี รวมถึงแลกเปลี่ยนและเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างแต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างฐานข้อมูลเดียวกัน ที่จะใช้สืบสวน สอบสวน ตรวจสอบหาธุรกิจที่กระทำผิดและเข้าข่ายนอมินี

ระยะกลาง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า อยู่ระหว่างจัดทำระบบวิเคราะห์แนวโน้มพฤติกรรมของนิติบุคคลที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจตามกฎหมาย (IBAS) เพื่อจับผิดนิติบุคคลเสี่ยง คาดว่าจะเสร็จในไม่เกิน 6 เดือน

ระยะยาว จะแก้ไขกฎหมายของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถไม่รับจดทะเบียนบุคคลที่มีความเสี่ยงสูงตามกฎหมายปปง. เช่น อาชญากรข้ามชาติ มีชื่อเป็นกรรมการในบริษัทที่จะขอจดทะเบียนจัดตั้งกับกรม จากปัจจุบันที่กรมยังรับจดให้ได้ เพราะตามอำนาจหน้าที่ จะไม่รับจดเฉพาะบุคคลล้มละลาย และบุคคลไร้ความสามารถเท่านั้น อีกทั้งยังจะเพิ่มฐานความผิดนอมินี ให้ปปง.สามารถยึดและอายัดทรัพย์สินของ

“แผนการทำงานทั้งหมดนี้ ตั้งเป้าหมายการทำงานไว้รวม ๆ 1 ปี 9 เดือน โดยเริ่มตั้งแต่เดือนก.ย.67-มิ.ย.2568 เพื่อทำให้นอมินีหมดไปจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด เพราะถือเป็นการครอบงำธุรกิจไทย สร้างความเสียหายให้กับธุรกิจและเศรษฐกิจไทย” นภินทร ย้ำ

สกัด “บัญชีม้านิติบุคคล” ตัดช่องทางโจรออนไลน์

ส่วนกรณี “บัญชีม้านิติบุคคล” ที่เป็นบัญชีธนาคารที่มิจฉาชีพ โดยเฉพาะ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” หลอกล่อหรือจ้างวานบุคคลให้ไปจดทะเบียนนิติบุคคล ทั้งในรูปแบบของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วน จากนั้นจะนำหลักฐานการจดทะเบียนไปเปิดบัญชีธนาคารนิติบุคคล เพื่อทำธุรกรรมทางการเงินที่ผิดกฎหมาย เช่น ฟอกเงิน ฉ้อโกง หลอกลวงออนไลน์ รับเงินจากเว็บพนัน หรือกิจกรรมอาชญากรรมอื่น ๆ นั้น

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการจดทะเบียนนิติบุคคล ได้ดำเนินการตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีแล้วตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย.2567 โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) “ป้องกันและปราบปรามปัญหาการเปิดบัญชีม้าของนิติบุคคลและการใช้คนไทยเป็นตัวแทนอำพราง (Nominee)” เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ทำให้การจดทะเบียนนิติบุคคลรัดกุมขึ้น และเร่งตรวจสอบนิติบุคคลที่มีความเสี่ยง ทั้งเสี่ยงต่อการเปิดบัญชีม้า และเสี่ยงต่อการเป็นนอมินี ปิดโอกาสมิจฉาชีพนำความน่าเชื่อถือจากการจดทะเบียนนิติบุคคลมาใช้หลอกลวงประชาชน และเร่งสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายกับผู้กระทำผิดได้ทันที!!

นอกจากนี้ กรมยังร่วมกับ “ศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์” (AOC) เชื่อมโยงข้อมูลบุคคลที่มีรายชื่อเสี่ยงสูงต่อการฟอกเงิน ตามรหัส HR-03 ในกรณีเป็นบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน หรือเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารที่ถูกใช้กระทำความผิดมูลฐาน เพื่อแก้ปัญหาบัญชีม้านิติบุคคล

โดยกำหนดมาตรการตรวจสอบและเรียกให้ผู้มีรายชื่อในรหัส HR-03 ตามประกาศของ ปปง. มาแสดงตนก่อนการรับจดทะเบียนนิติบุคคลทุกราย เพื่อตัดวงจรโจรออนไลน์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย

จากมาตรการทั้งหมดนี้ คนไทยและภาคธุรกิจไทยต่างหวังเช่นเดียวกับรัฐบาลว่า จะช่วยแก้ปัญหา “นอมินี” “สินค้านำเข้าราคาถูก ไร้มาตรฐาน” และ “บัญชีม้านิติบุคคล” ให้หมดไปได้โดยเร็วที่สุด และจะไม่กลับมาหลอกหลอนซ้ำแล้วซ้ำอีก จนสร้างความเสียหายอย่างไม่รู้จบ!!

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


 


Author

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์

สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ