ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ภาพปัจจัยเศรษฐกิจต่างๆ บ่งชี้ถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยในระยะต่อไปที่มากขึ้น ทำให้เราเชื่อว่าน่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ มากขึ้นและจะทำให้เศรษฐกิจที่ประเทศอื่นๆ ชะลอลง โดยปัจจัยที่เราจะกล่าวถึงมี 5 ประเด็นดังนี้
ประเด็นแรก ได้แก่ การปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและพันธมิตร (OPEC+) โดยในช่วงต้นเดือน เม.ย. กลุ่ม OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิตเพิ่มเติมถึง 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน พ.ค. ซึ่งนอกเหนือการคาดการณ์ของตลาด (นำโดยซาอุดีอาระเบียที่จะลด 5 แสนบาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเมื่อรวมกับที่รัสเซียประกาศไว้ก่อนหน้าว่าจะลดกำลังการผลิต 5 แสนบาร์เรลต่อวันไปจนถึงสิ้นปี ก็จะให้กำลังการผลิตลดเพิ่มเติมรวมประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวันนับตั้งแต่เดือน ก.ค. เป็นต้นไป ซึ่งหลังจากการประกาศดังกล่าว ทำให้ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นประมาณ 7%
เรามองว่า สาเหตุที่ OPEC ประกาศลดกำลังการผลิตอีก เป็นเพราะ (1) แนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวมากกว่าที่คาด น่าจะทำให้การประมาณการความต้องการน้ำมันของโลกผิดจากที่ OPEC เคยคาด โดยในรายงานเดือน มี.ค. OPEC เคยคาดว่าความต้องการน้ำมันโลกจะอยู่ที่ 103.4 บาร์เรลต่อวัน ณ 4Q/23 ต่างจากที่เราคาดว่าจะอยู่ที่ 96 ล้านบาร์เรลต่อวัน (2) ราคาน้ำมันดิบลดต่ำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดวิกฤติธนาคารช่วงต้นเดือน มี.ค. โดยลดจาก 85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงต้นเดือน มาอยู่ที่ 71 ดอลลาร์ในช่วงปลายเดือน ก่อนที่จะปรับขึ้นมาอยู่ที่ 76 ดอลลาร์ก่อนลดกำลังการผลิต ทั้งนี้ ในส่วนของผลกระทบของการปรับขึ้นครั้งนี้ เบื้องต้นเรามองว่าราคาในระยะต่อไปน่าจะปรับขึ้นจาก 70-80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ตามประมาณการของเรา ซึ่งการขึ้นของราคาในระดับนี้ ไม่น่าจะทำให้เงินเฟ้อปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ประเด็นที่สอง การปรับลดการคาดการณ์เศรษฐกิจโลกของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยรายงาน World Economic Outlook ของ IMF ฉบับ เม.ย. 2023 ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลก เหลือ 2.8% จาก 2.9% ในเดือน ม.ค. ส่วนในปีหน้า IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.0% ปรับลดจาก 3.1% จากนโยบายการเงินที่ตึงตัวเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อที่สูงอย่างยืดเยื้อ (persistent inflation) และถึงแม้ว่าความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาลุกลามในระบบธนาคาร (contagion risk) หลังวิกฤติธนาคารในยุโรปและสหรัฐฯ จะบรรเทาลง แต่วิกฤติที่เกิดขึ้นได้เพิ่มความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง นอกเหนือจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงอย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลงโดยง่าย
ประเด็นที่สาม ได้แก่ ตัวเลขตลาดแรงงาน เงินเฟ้อ และตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลงทั้งหมด โดยภาพรวมของตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ประกาศในเดือน มี.ค. เป็นทิศทางชะลอตัวทั้งหมด โดยในส่วนตลาดแรงงาน ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ตำแหน่งงานเปิดใหม่ และการจ้างงานภาคเอกชน (ADP) ชะลอตัวทั้งสิ้น โดยเริ่มเห็นการชะลอของการจ้างงานภาคบริการ เช่น การเงิน และบริการให้คำปรึกษาด้านธุรกิจ บ่งชี้ถึงการชะลอการจ้างงานเข้าสู่ภาคบริการเพิ่มขึ้น โดยเรามองว่า ในเดือนต่อๆ ไป จะเริ่มเห็นการชะลอลงรุนแรงขึ้นตามภาพเศรษฐกิจที่ชะลอลง
ด้านเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือน มี.ค. ขยายตัว 5% ต่ำกว่าคาด และชะลอตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี และเมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าเงินเฟ้อชะลอทั้ง 3 องค์ประกอบใหญ่ ได้แก่ (1) โภคภัณฑ์ จากพลังงาน (2) เงินเฟ้อจาก Supply chain ทรงตัว และ (3) เงินเฟ้อจากภาคบริการ ยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ก็เริ่มลดลง ด้านตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอลงต่อเนื่อง โดย (1) ตัวเลขยอดค้าปลีก ปรับลดลง -1% (2) การผลิตภาคอุตสาหกรรม หดตัว -0.5% ต่อเดือน และ (3) การคาดการณ์เงินเฟ้อใน 1 ปีข้างหน้าของ U. of Michigan ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 4.6% จาก 3.6% ในเดือน มี.ค. โดยเราวิเคราะห์ว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคการใช้จ่ายที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง แต่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นจากการลดกำลังการผลิตของ OPEC+ ซึ่งจะยิ่งเป็นแรงกดดันด้านต้นทุน ทำให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคยิ่งปรับลด กำลังการผลิตรวมถึงการใช้จ่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะยิ่งกดดันเศรษฐกิจในระยะถัดไป
ประเด็นที่สี่ รายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (Fed Minute) ที่ระบุว่าจะเกิด Recession แบบอ่อนๆ ในปีนี้ แต่ก็ยังคงขึ้นดอกเบี้ย โดยเราเห็นว่า คณะกรรมการฯ พร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยจนเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอยเพื่อให้เงินเฟ้อเข้าไปอยู่ในเป้าหมาย โดยสภาพคล่องทางการเงินจะต้องตึงตัวจนสินเชื่อหดตัวลงและทำให้ความเสี่ยงวิกฤติการเงินมีมากขึ้น และด้วยทิศทางเงินเฟ้อใหม่ของสหรัฐฯ ที่ชะลอลงมาก ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ ณ ปลายปี 2023 จะอยู่ในระดับสูงกว่าเงินเฟ้อถึงเกือบ 2% ทำให้เราเชื่อว่าอาจจะเกิดวิกฤติการเงินในลักษณะเช่นเดียวกับวิกฤติธนาคารในช่วงที่ผ่านมาได้อีก
ประเด็นสุดท้าย ในส่วนของไทย เรามองว่า ความเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในช่วงต่อไปสูงขึ้น เห็นได้จากรายงานเสถียรภาพทางการเงินของ ธปท. ไตรมาส 1/23 ที่ระบุเสถียรภาพภาคการเงินไทยยังอยู่ในเกณฑ์ดี แต่นโยบายการเงินตึงตัวเริ่มส่งผลถึงเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้สินเชื่อชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญขณะที่คุณภาพสินเชื่ออุปโภคบริโภคผ่านตัวเลข NPL แย่ลงเช่นกัน ด้านความสามารถในการชำระหนี้และการทำกำไรของภาคธุรกิจลดลง โดยเฉพาะภาคการผลิต ผลจากส่งออกและภาคการผลิตที่หดตัว
ด้วยภาพความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกและไทยที่มากขึ้น ทาง InnovestX จึงได้มีมุมมองระมัดระวังในการลงทุน โดยสินทรัพย์ที่เรายังคงแนะนำได้แก่ตราสารหนี้โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาล และตราสารหนี้คุณภาพดี ในส่วนหุ้นต่างประเทศ เราแนะนำหุ้นที่มีผลประกอบการดี มีหนี้สินต่ำ มีความสามารถในการกำหนดราคาในช่วงเศรษฐกิจผันผวน (Pricing power)
ในส่วนของไทย เรามองว่าเป็นโอกาสซื้อสะสมในช่วงเศรษฐกิจและตลาดการเงินผันผวน โดยเราคัดเลือก 5 หุ้นเด่นในธีม Best of the Best ได้แก่ AU, BBL, BDMS, CPALL และ GULF ที่มีจุดแข็งร่วมกันคือ (1) เป็นผู้นำในแต่ละอุตสาหกรรม (2) มีฐานะการเงินแข็งแกร่ง (3) กำไรอยู่ในทิศทางขาขึ้นและสูง (Outperform) กว่าตลาด
ในท้ายที่สุด เราเชื่อว่าแม้เศรษฐกิจจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็ยังมีช่องทางให้ลงทุนได้ แต่นักลงทุนจะต้องมีสายตาที่เฉียบคม จับจังหวะและวิเคราะห์ภาพใหญ่ (Macro) และภาพเล็ก (Micro) ให้ดีด้วย