พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ การเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (EFTA : European Free Trade Association) ประกอบด้วยสมาชิก สวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนสไตน์ เสร็จสิ้นแล้ว และเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567 เลขาธิการเอฟตา ได้ประกาศความสำเร็จของการเจรจา ที่ครอบคลุมทุกด้าน ซึ่งเป็นข้อสรุปจากหัวหน้าคณะผู้แทนของสมาชิกทุกชาติ
ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงขอร่วมประกาศความสำเร็จด้วยเช่นกัน ทั้งนี้ FTA ไทย-EFTA ใช้เวลาเจรจา 2 ปีและสรุปผลการเจรจาได้ตามเป้าหมาย ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการส่งออกสินค้าและบริการ สร้างแต้มต่อทางการค้าให้ผู้ประกอบการ รวมทั้งดึงดูดต่างชาติมาลงทุนในไทยมากขึ้น
โดยกระทรวงพาณิชย์ จะเสนอผลการเจรจาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบเร็วๆ นี้ เพื่อให้ทันกับการลงนามความตกลงร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่ายในช่วงการประชุม World Economic Forum ที่ดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ ในเดือนม.ค.2568 ซึ่งแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และตนจะเดินทางไปเข้าร่วมประชุมด้วย และหลังจากนั้น จะเสนอความตกลงต่อรัฐสภา เพื่อให้ความเห็นชอบ ก่อนที่ไทยจะให้สัตยาบันเพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้และเกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของไทยอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว
สำหรับ FTA ไทย-EFTA ได้ข้อสรุปในทุกประเด็นที่เจรจาทั้งหมด 15 เรื่อง ได้แก่
“ความสำเร็จในการจัดทำเอฟทีเอฉบับนี้ ถือเป็นหน้าใหม่ของประวัติศาสตร์การค้าไทย เนื่องจากเป็นเอฟทีเอฉบับแรกที่ไทยทำกับกลุ่มประเทศในยุโรป มีความทันสมัย มาตรฐานสูง สอดคล้องกับพัฒนาการของกฎเกณฑ์การค้ายุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะปูทางไปสู่การเจรจาจัดทำเอฟทีเอกับคู่ค้าสำคัญอื่นๆ เช่น สหภาพยุโรป ในอนาคต สำหรับ FTA ไทย-EFAT จะมีส่วนในการผลักดันการค้าของไทยให้มั่งคั่งยิ่งขึ้นไปแน่นอน”
ทั้งนี้ ไทยและ EFTA ได้ประกาศเปิดการเจรจาจัดทำเอฟทีเอ มาตั้งแต่ปี 2565 โดยสามารถเจรจาได้จบในเวลาเพียง 2 ปีตามเป้าหมาย ถือเป็นความสำเร็จตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการเร่งขยายโอกาสทางการค้าและการลงทุนกับประเทศคู่ค้าสำคัญ ผ่านการจัดทำเอฟทีเอ เพื่อลดอุปสรรคทางการค้า อำนวยความสะดวกกับภาคธุรกิจ ยกระดับมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดการลงทุน รวมถึงกระชับความสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ตั้งแต่ที่ตนรับตำแหน่งรมว.พาณิชย์ เมื่อเดือนก.ย.2567 ก็ได้สั่งการให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเดินหน้าเจรจาเอฟทีเอฉบับต่างๆ ที่อยู่ระหว่างหารืออย่างเต็มที่ จนสำเร็จเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับคนไทยและเศรษฐกิจไทย
สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทย- EFTA นั้น ปี 2567 ช่วงเดือน ม.ค. - ต.ค. อยู่ที่ 10,293.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีสัดส่วน 2.03% ของการค้าทั้งหมดของไทยกับโลก ขยายตัว 23.22% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 โดยไทยส่งออก 3,787.97 ล้านเหรียญฯ และนำเข้า 6,505.56 ล้านเหรียญฯ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น อัญมณีและเครื่องประดับ นาฬิกาและส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ผลิตภัณฑ์พลาสติก ข้าว ฯลฯ ส่วนสินค้านำเข้า เช่น เครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เนื้อสัตว์ ปุ๋ย และยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เอฟทีเอ ว็อทช์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เครือข่ายเกษตรทางเลือก สภาองค์กรของผู้บริโภค และเครือข่ายนักวิชาการ ได้ร่วมกันแถลงข่าว “เอฟทีเอไทย-อียู ขัดแย้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน: ยาแพง เกษตรหนี้เพิ่ม บัตรทองพัง”
โดยเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้ประสานงานของกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) ระบุว่า เนื้อหาการเจรจาเอฟทีเอระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปมีประเด็นอ่อนไหวและน่ากังวลหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและการเข้าถึงยา สหภาพยุโรปยังคงเสนอข้อผูกมัดเรื่องการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดกว่าความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก แทบไม่แตกต่างจากที่เคยเจรจาเมื่อ 10 กว่าปีก่อน
และจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อการเข้าถึงยาและระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศ เพราะถ้าไทยยอมรับข้อผูกมัดแบบที่เข้มงวดกว่าความตกลงขององค์การการค้า หรือที่เรียกว่า “ทริปส์พลัส” (TRIPS+) ประเทศไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศเพิ่มขึ้นหลายหมื่นล้านต่อปี เพราะยาจะมีราคาแพงขึ้นและขัดขวางการแข่งขันของยาชื่อสามัญที่มีราคาถูกกว่า บีบบังคับให้ต้องใช้ยาต้นแบบราคาแพงเท่านั้น ระบบหลักประกันสุขภาพจะมีภาระงบประมาณค่ายาเพิ่มมากขึ้นจนอาจแบกรับไม่ไหว
“สหภาพยุโรปยังคงเสนอให้ไทยยอมรับการผูกขาดข้อมูลทางยา (Data Exclusivity) การขยายอายุสิทธิบัตร (Patent Term Extension หรือ Supplementary Protection Certificate: SPC) และมาตรการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Enforcement) แม้ในการเจรจาจะปรับเปลี่ยนรายละเอียดของมาตรการต่างๆ ที่เสนอ เช่น การขยายอายุสิทธิบัตรเฉพาะในกรณีที่พิจารณาและอนุมัติทะเบียนยาล่าช้า หรือเฉพาะสิทธิบัตรหลักที่คุ้มครองสารออกฤทธิ์ทางเภสัชกรรม (Active Pharmaceutical Ingredient: API) แต่ผลกระทบที่จะเกิดกับการเข้าถึงยาของประชาชนยังคงรุนแรง และไม่อาจยอมรับได้ สหภาพยุโรปควรหยุดเรียกร้องให้มีข้อผูกมัดทริปส์พลัส และผู้แทนเจรจาของไทยควรรักษาจุดยืนที่ไม่ยอมรับข้อผูกมัดทริปส์พลัสเหมือนอย่างที่เจรจาเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศ EFTA”
มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ สภาองค์กรของผู้บริโภค ชี้ว่าข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปที่น่าห่วงกังวลมากสำหรับผู้บริโภคอีกประการหนึ่งคือ ประเทศไทยถูกบังคับให้นำเข้าเครื่องมือแพทย์ใช้แล้วที่ผ่านกระบวนการผลิตซ้ำหรือผลิตใหม่ ในขณะที่ประเทศยังไม่มีศักยภาพในการควบคุมกำกับเครื่องมือแพทย์เหล่านี้ จะส่งผลให้ผู้ป่วยอาจได้รับการวินิจฉัยและการรักษาโรคผิดพลาดหรือไม่ได้มาตรฐานได้ แม้แต่การจัดซื้อจัดจ้างตามโรงพยาบาลรัฐก็จะถูกบังคับห้ามปฏิเสธเครื่องมือแพทย์ re-manufactured เหล่านี้ เกรงว่าในที่สุดไทยจะถูกเป็นที่ทิ้งขยะมือสอง
อีกประเด็นที่สำคัญต่อผู้บริโภค ขณะนี้อาหารที่นำเข้ามาจำหน่ายในไทยพบว่ายังไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ไม่มีการแสดงรายละเอียดของอาหารที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้บริโภคได้รู้จักที่มาของอาหารรวมไปถึงองค์ประกอบของอาหาร อีกทั้งไทยยังไม่มีการตรวจสอบคุณภาพที่ด่านนำเข้า หากพบสารปนเปื้อนหรือสารที่เป็นอันตรายจะไม่มีระบบการเรียกคืนสินค้า รวมถึงตอนนี้ในไทยยังไม่มีมาตรการให้บริษัทออนไลน์ขึ้นทะเบียนสินค้า ไม่มีการยืนยันตัวตนเป็นผู้ค้าออนไลน์ อาจทำให้ผู้บริโภคได้ของไม่มีคุณภาพ ต้องรอให้กฎหมายภายในประเทศเข้มแข็งก่อนถึงจะสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ หรือถ้าจะเปิดให้มีสินค้าเข้ามาจำหน่ายในประเทศต้องเข้มงวดเรื่องการตรวจสอบคุณภาพสินค้าที่เข้ามาด้วย
นันทวัน หาญดี เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ยืนยันให้ผู้เจรจาฝ่ายไทยต้องปฏิเสธการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา UPOV 1991 ตามข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป ดังที่เคยยืนยันหนักแน่นมาแล้วในการเจรจากับสมาคมการค้าเสรียุโรป (EFTA)
“UPOV 1991 คือ อนุสัญญาระหว่างประเทศที่มุ่งเน้นเรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ โดยให้สิทธิเด็ดขาดในพันธุ์พืชใหม่แก่นักปรับปรุงพันธุ์ เป็นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านพืช ภายใต้ข้อบททรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอระบุว่าไทยขาดความเหมาะสม หรือไม่ควรที่จะเข้าเป็นสมาชิก UPOV 1991 โดยสิ้นเชิงเพราะไทยถือเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพค่อนข้างมาก เช่นเดียวกับรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญผลกระทบการเข้าร่วม CPTPP ที่ชี้ว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวมากและผลกระทบรุนแรง”
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก ระบุว่า การเก็บรักษาพันธุ์พืชไปปลูกต่อ เป็นหัวใจสำคัญของระบบเกษตรกรรมและความมั่นคงทางอาหาร แต่ภายใต้อนุสัญญาดังกล่าว การเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อ แทบทุกกรณีมีความผิดตามกฎหมาย นั่นคือ เมล็ดพันธุ์ ส่วนขยายพันธุ์ ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ และผลิตภัณฑ์จะถือเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ทำลายศักยภาพนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยและเกษตรกร ส่งผลให้นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยสูญหาย ถือเป็นการสนับสนุนโจรสลัดชีวภาพทางอ้อม ทำให้ราคาเมล็ดพันธุ์ที่เกษตรกรต้องจ่ายแพงขึ้น ซึ่งเมล็ดพันธุ์จะแพงขึ้น 2-6 เท่าตัว อีกทั้งไม่หลากหลาย
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดี" ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney