หนี้เสียจ่อพุ่ง 1.2 ล้านล้าน จับตาวิกฤติลุกลาม ลูกหนี้เลี่ยง  “ปรับโครงสร้าง” กลัวแบงก์ไม่ปล่อยกู้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หนี้เสียจ่อพุ่ง 1.2 ล้านล้าน จับตาวิกฤติลุกลาม ลูกหนี้เลี่ยง “ปรับโครงสร้าง” กลัวแบงก์ไม่ปล่อยกู้

Date Time: 21 ต.ค. 2567 14:26 น.

Video

สาเหตุที่ทำให้ Intel อดีตยักษ์ใหญ่ชิปโลก ล้าหลังยุค AI | Digital Frontiers

Summary

  • เครดิตบูโร เผยข้อมูล 8 เดือนแรก สินเชื่อยังโตต่ำ 0.8% หนี้เสียเพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี จ่อแตะระดับ 1.2 ล้านล้านบาท ในไตรมาสสาม จับตายอดหนี้ใกล้เสีย (SM) หลังแบงก์ชาติออกมาตรการแก้หนี้เชิงรุก หวั่นลูกหนี้ไม่ยอมปรับโครงสร้าง มองเป็นอุปสรรคทำแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ

สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) เผยภาพรวมสินเชื่อบุคคลธรรมดา 8 เดือนแรก จากฐานข้อมูลสถิติ ที่ไม่มีตัวตนของเครดิตบูโร ครอบคลุมหนี้สินรายย่อยของประชาชนที่ไม่รวมลูกหนี้นิติบุคคล ซึ่งรวบรวมจากสถาบันการเงินสมาชิกเครดิตบูโรกว่า 158 แห่ง พบว่า ณ เดือนสิงหาคม มียอดสินเชื่อ 13.63 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.8% เมื่อเทียบเป็นรายปี และไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบเป็นรายเดือน

เมื่อแยกเป็นรายประเภท พบว่าสินเชื่อส่วนใหญ่มีการเติบโตชะลอลงจากเดือนก่อน โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

  • สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มียอดสินเชื่อ 5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อจากเดือนก่อน
  • สินเชื่อรถยนต์ มียอดสินเชื่อ 2.4 ล้านล้านบาท หดตัว 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี หดตัว 0.9% จากเดือนก่อนหน้า
  • สินเชื่อบัตรเครดิต มียอดสินเชื่อ 5.4 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี หดตัว 0.4% จากเดือนก่อนหน้า
  • สินเชื่อส่วนบุคคล มียอดสินเชื่อ 2.6 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี เพิ่มขึ้น 0.2% จากเดือนก่อนหน้า

ด้านสถานการณ์หนี้เสีย (NPL) ค้างชำระเกิน 90 วัน ณ เดือนสิงหาคม เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.18 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.3% เมื่อเทียบเป็นรายปี คิดเป็นอัตราส่วน 9.7% ต่อสินเชื่อรวม โดยคาดว่ายอดหนี้เสียจะปรับสูงขึ้นแตะระดับ 1.2 ล้านล้านบาท ในไตรมาสที่สาม ตามที่ประเมินไว้เมื่อต้นปี 2567 เมื่อแยกตามประเภทสินเชื่อ มีการเติบโตดังนี้

  • หนี้เสียบ้าน 230,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3%
  • หนี้เสียรถยนต์259,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28.6%
  • บัตรเครดิต 69,306 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.9% 

จับตาหนี้ใกล้เสีย คนเลี่ยงปรับโครงสร้างหวั่นแบงก์ไม่ปล่อยกู้

สำหรับหนี้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ (Special Mention Loan: SM) ซึ่งเป็นหนี้ที่ค้างชำระระหว่าง 1-3 เดือน ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นหนี้เสีย ในเดือนสิงหาคม 2567 อยู่ที่ 6.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 4.7% มาตรการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันหรือ DR หรือ Preemptive Debt Restructure ที่เริ่มให้มีการบันทึกข้อมูลในระบบเครดิตบูโรตั้งแต่เมษายน 2567 ตอนนี้มียอดสะสมจนถึงสิงหาคม 2567 คิดเป็นจำนวน 1 ล้านบัญชี โดยมียอดหนี้ 5.4 แสนล้านบาท “ผมก็ไม่รู้ว่าทำกันมากน้อย เพราะไม่มีตัวเลขเปรียบเทียบก่อนหน้าเดือนเมษา 2567 เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บข้อมูลนี้ มาตรการนี้เป็นเหมือนฝายทดน้ำไม่ให้ SM ไหลไปเป็น NPLs เพราะตามเกณฑ์การให้สินเชื่อที่รับผิดชอบ เจ้าหนี้ต้องยื่นข้อเสนอให้ลูกหนี้ถ้าเห็นว่าลูกหนี้จะผ่อนตามเงื่อนไขเดิมไม่ไหว กล่าวคือปรับโครงสร้างหนี้ก่อนที่จะค้างเกิน 90 วันที่กำลังมีจำนวนทวีเพิ่ม”

อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการประกาศใช้มาตรการปรับโครงสร้างหนี้ ตามที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกหลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible Lending) เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 พบว่า ลูกหนี้เริ่มร้องปัญหามาที่เครดิตบูโรหลายประเด็นดังนี้

  • ลูกหนี้ที่เข้าร่วมมาตรการ DR มองว่าเป็นสาเหตุทำให้พวกเขาถูกปฏิเสธสินเชื่อจากธนาคาร
  • ลูกหนี้บางรายตัดสินใจเข้าร่วมมาตรการ เพราะเข้าใจผิดว่าการปรับโครงสร้างหนี้จะระบุรหัสไว้ในรายงานเครดิตบูโร
  • เจ้าหนี้ให้ข้อมูลไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบหลังปรับโครงสร้างหนี้

ทำให้ท้ายที่สุดแล้วลูกหนี้บางส่วน ตัดสินใจไม่เข้าร่วมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ เพราะกังวลว่าจะถูกปฏิเสธสินเชื่อ ทั้งนี้นายสุรพล ทิ้งท้ายไปถึงธนาคารแห่งประเทศไทยว่า

“โปรดลงไปพูดจาให้เกิดการปฏิบัติอย่างที่ท่านมุ่งหมายด้วยนะครับ เป้าตัวเลขที่อยากได้จากสถาบันการเงินเจ้าหนี้ กับปริมาณคำร้องที่มันเริ่มทวีมากขึ้น ท่านต้องรับด้วยนะครับ ถ้าเอาใจลูกหนี้มากก็เละ ถ้าไม่ชัดกับเจ้าหนี้มันก็ละล้าละลังกันไปทั้งขบวน สถานการณ์แบบกลับก็ไม่ได้ ไปก็ไม่ถึงถ้ายังเป็นแบบนี้ ขยันทำอยู่ผิดที่ 10 ปีก็ไม่ถึงเป้าหมายครับ”

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ