ช่วงปี 2566 ที่ผ่านมา เป็นอีกปีหนึ่ง ที่เราได้เห็นการปรับตัว เปลี่ยนกลยุทธ์ การแข่งขัน ของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย เจ้าของโครงการ บ้าน และ คอนโดมิเนียม ต่างๆ ที่เผชิญกับความท้าทาย ในแง่ กำลังซื้อ ถดถอย และ เศรษฐกิจ ฟื้นตัวไม่เต็มที่
ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย และมีปัญหา การขอสินเชื่อไม่ผ่าน เป็นประเด็นใหญ่ เกิดภาพ ทั้งแผนรุก และ แผนรับ ของแต่ละบริษัท อย่างน่าสนใจ พร้อมๆ กับปรากฏการณ์ “บ้านหรู” ตลาดแตก ซึ่งกลายเป็นทั้งโอกาส และ วิกฤติ ให้บางบริษัท เช่นกัน
ล่าสุด พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ บริษัทวิจัยอสังหาริมทรัพย์ครบวงจร เผยแพร่ข้อมูล สรุปผลประกอบการ ปี 2566 ของบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ 10 ราย ที่ประกาศออกมาแล้ว พบ จากการที่ผู้ประกอบการหลายราย มีการปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินธุรกิจ ทั้งการลดการเปิดขายโครงการคอนโดมิเนียม และเพิ่มสัดส่วนในโครงการบ้านจัดสรร รวมไปถึงการเพิ่มโครงการราคาแพงออกมาขายมากขึ้น ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงในแง่ กำไรสุทธิ อย่างมีนัย
"สุรเชษฐ์ กองชีพ" พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ ชี้ว่า การขายบ้านและคอนโดฯ ช่วงปีที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการบางราย ที่ได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ซื้อระดับบน นอกจากนี้ การเร่งปิดการขายและโอนกรรมสิทธิ์บ้านและคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จแล้ว หรือกำลังจะเสร็จเพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้เงินสดเข้ามาหมุนเวียนในบริษัทมากขึ้น กลายเป็นผลดีในแง่ผลประกอบการ
ส่งผลมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2565 แม้ว่า ณ ปัจจุบันอาจจะยังมีการประกาศออกมาไม่ครบทุกบริษัท แต่ก็สามารถพิจารณาได้ว่าผู้ประกอบการรายใดมีผลประกอบการที่ดีขึ้นทั้งในแง่ของรายได้ และกำไร
ทั้งนี้ แสนสิริ เป็นผู้ประกอบการที่มีกำไรในปี 2566 มากที่สุด ตามมาด้วย เอพี และ ศุภาลัย
“ทั้งแสนสิริ และเอพีในปีที่ผ่านมา นอกจากจะเปิดขายโครงการใหม่มากแล้ว ยังมีการโอนกรรมสิทธิ์ทั้งบ้าน และคอนโดมิเนียมต่อเนื่อง รวมไปถึงการเร่งปิดการขายโครงการที่สร้างเสร็จแล้ว พร้อมโอนกรรมสิทธิ์ นอกจากนี้โครงการราคาแพงของทั้ง 2 บริษัทยังได้รับการตอบรับที่ดีโดยเฉพาะแสนสิริที่หลายโครงการของพวกเขาปิดการขายได้ภายในระยะเวลาไม่นาน แม้ว่าราคาขายเริ่มต้นจะไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาทก็ตาม”
ทั้งนี้ เมื่อนับรวม กำไรสุทธิ ทั้ง 10 บริษัทอสังหาฯ ที่ประกาศงบปี 2566 ออกมา ได้แก่ แสนสิริ, เอพี, ศุภาลัย, คิวเฮ้าส์, พฤกษา, เอสซี แอทเสท, เฟรเซอร์สฯ, แอสเซทไวส์, สิงห์ เอสเตท และ แอล.พี.เอ็น. พบ มีกำไรสุทธิรวมกัน มากกว่า 2.8 หมื่นล้านบาท จากรายได้รวมกันที่ 215,842 ล้านบาท
กูรูอสังหาฯ ยังกล่าวว่า หลายบริษัทมีรายได้มากขึ้นและเพิ่มขึ้น ในสัดส่วนที่ค่อนข้างมาก แต่ไม่ได้มากมายนัก เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการบางรายที่มีทั้งรายได้และกำไรอันดับต้นๆ แต่ส่วนใหญ่ที่เห็นได้ชัดเจน คือ กำไรที่ลดลง ซึ่งอาจจะเกิดจากการที่มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการหรือกิจกรรมทางการขายที่มากขึ้น รวมไปถึงการลดราคาหรือยอมขาดทุนกำไรบ้างเพื่อที่จะได้ปิดการขายได้ จึงอาจจะเป็นปัจจัยที่ทำให้กำไรของผู้ประกอบการบางรายลดลง
แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังคงมีรายได้และกำไรอยู่ ไม่มีผู้ประกอบการรายใดที่ขาดทุนในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการบางรายอย่าง คิวเฮ้าส์อาจจะมีกำไรมาก แต่รายได้น้อยมาก เพราะมีรายได้จากธุรกิจอื่นๆ เช่น อาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ แม้ว่าพวกเขาจะเปิดขายโครงการใหม่ไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการ 5 อันดับแรก
ซึ่งผลประกอบการด้านบนนี้ ยังไม่ได้รวมแลนด์แอนด์เฮ้าส์ที่หลายปีที่ผ่านมาเปิดขายโครงการใหม่ไม่มากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ แต่รายได้จากธุรกิจอื่นๆ ของแลนด์แอนด์เฮ้าส์ค่อนข้างมาก ดังนั้น เป็นไปได้ที่รายได้ และกำไรในปี พ.ศ. 2566 อาจจะมากกว่าผู้ประกอบการหลายรายในตลาด
“รายได้และกำไรที่ลดลงของผู้ประกอบการบางรายในปี 2566 ยังคงมีช่องทางในการพลิกกลับมาในปี 2567 เพราะผู้ประกอบการบางรายมีการประกาศแผนการเปิดขายโครงการใหม่ออกมาแล้ว อีกทั้งมาตรการลดค่าโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองของที่อยู่อาศัยไม่เกิน 3 ล้านบาทยังคงมีต่อในปีนี้ ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดีของผู้ประกอบการบางรายที่มีโครงการระดับราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทพร้อมโอนกรรมสิทธิ์”
อีกทั้งกำลังซื้อต่างชาติในตลาดคอนโดมิเนียมเพิ่มมากขึ้นแน่นอน ทั้งคนจีน รัสเซีย และพม่าที่เข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น เพียงแต่ปัญหาใหญ่ยังคงอยู่ที่เรื่องของการพิจารณาสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีความเข้มงวดมาก และกระทบกับกลุ่มกำลังซื้อที่อยู่อาศัยที่มีราคาไม่เกิน 3 ล้านบาทขึ้นมาถึงระดับราคาไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อยูนิต
ผู้ประกอบการหลายรายจึงพยายามเปิดขายโครงการใหม่ที่เลี่ยงกลุ่มระดับราคานี้ในปี 2567 และพยายามเข้าถึงกลุ่มผู้ซื้อบ้านราคาแพงซึ่งไม่ค่อยมีปัญหาในการขอสินเชื่อธนาคาร ซึ่งผู้ประกอบการบางราย เช่น แสนสิริ และเอสซี แอสเสท รวมไปถึงแลนด์แอนด์เฮ้าส์ทำได้ดีมาโดยตลอด
ที่มา : พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ