ยานยนต์ไฟฟ้ามาแว้วว พลังงานทดแทนยุค 4.0

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ยานยนต์ไฟฟ้ามาแว้วว พลังงานทดแทนยุค 4.0

Date Time: 8 มิ.ย. 2560 05:01 น.

Summary

  • พูดกันมานานสำหรับเรื่องของ “ยานยนต์ไฟฟ้า”...ที่กำลังจะเป็นเรื่องของ “เทรนด์” ซึ่งกำลังจะก้าวเข้ามาทดแทน “ยานยนต์พลังงานก๊าซ และน้ำมัน” หรือ “ยานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล”...

Latest

"อุยกูร์" ไม่กระทบส่งออกไปสหรัฐฯ "พิชัย" ย้ำเจรจาได้-เอกชนยันคุ้มครองแรงงาน

พูดกันมานานสำหรับเรื่องของ “ยานยนต์ไฟฟ้า”...ที่กำลังจะเป็นเรื่องของ “เทรนด์” ซึ่งกำลังจะก้าวเข้ามาทดแทน “ยานยนต์พลังงานก๊าซ และน้ำมัน” หรือ “ยานยนต์เชื้อเพลิงฟอสซิล”

วันนี้กลายเป็นกระแสที่หลายคนเริ่มออกมาพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง และเป็นหนึ่งในแนวทางการส่งเสริมผ่านนโยบายของรัฐบาลให้เกิดการลงทุนทั้งในด้านนวัตกรรม...เทคโนโลยี สู่ยุค “อุตสาหกรรม 4.0”

สอดคล้องกับกระทรวงพลังงานที่ได้วางมาตรการการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ในแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558-2579 (EEP2015) เพื่อให้เกิดการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2579 รวมทั้งสิ้น 1.2 ล้านคัน

“ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “EV (Electric Vehicle)” หมายถึงยานยนต์ที่มีการขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวหรือยานยนต์ที่อาศัยเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในมาใช้ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า

ทั้งในส่วนของการขับเคลื่อนและผลิตพลังงานไฟฟ้าเก็บสะสมในแบตเตอรี่ หรือเทคโนโลยีการใช้ก๊าซไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์เชื้อเพลิง

แต่การจะก้าวไปถึงเทคโนโลยีแห่งอนาคตอย่าง “ยานยนต์ไฟฟ้า” ก็ต้องมีองค์ประกอบสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะ “สถานีอัดประจุไฟฟ้า” (Charging Station) ในการให้พลังงานกับยานยนต์ไฟฟ้าตามแหล่งสำคัญต่างๆ ที่เปรียบเทียบให้เห็นภาพได้เหมือน “ปั๊มน้ำมัน” สำหรับยานยนต์ทั่วไปที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

สถานีอัดประจุไฟฟ้า มีการแบ่งระดับในการอัดประจุไฟฟ้าหลายระดับ ตัวอย่างเช่น แบบธรรมดา (Normal Charge) ใช้เวลาอัดประจุประมาณ 4-8 ชั่วโมง และการอัดประจุไฟฟ้าอย่างรวดเร็ว (Quick Charge) ใช้เวลาอัดประจุไฟฟ้าประมาณ 10-20 นาที

ภาพคร่าวๆ ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนี้มีโจทย์สำคัญร่วมกันคือ...ยานยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาทดแทนรถยนต์ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ในเร็ววันนี้จะต้องใช้งานได้จริง สะดวกเช่นเดียวกับยานยนต์ที่ใช้กันอยู่

นำมาซึ่งคำถามที่ว่า...แล้วเมืองไทยจะมีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ากันอย่างแพร่หลายจริงหรือไม่? และเมื่อไหร่?

ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เปิดมุมมองเอาไว้ว่า นับจากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และต่อเนื่องมาถึงเอนเนอยี่ 4.0 และเรื่องของพลังงานทดแทนแบบไฮบริดเฟิร์ม ที่เป็นหนึ่งในนั้นรวมถึงนโยบายด้านยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยมีเรื่องนี้เป็นเรื่องใหม่ และมีความล้ำนำหน้าไม่แพ้ใคร

ซึ่งก็แน่นอนว่าเรื่อง “ยานยนต์ไฟฟ้า” นี้ ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ

“รัฐบาลได้ผลักดันเรื่องนี้เต็มที่ ในปัจจุบันก็จะมีแพ็กเกจหรือนโยบายที่สนับสนุนในด้านต่างๆออกมาควบคู่ไปกับการสร้างผังการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นเรื่องของนโยบายส่งเสริมในด้านภาษี

ในส่วนกระทรวงพลังงานสนับสนุนในด้านการวางพื้นฐานเพื่ออนาคตในส่วนของชาร์จจิ้งสเตชั่นหรือสถานีจ่ายไฟ เพราะจะต้องมีระบบการส่งข้อมูลและส่งสัญญาณการชาร์จไฟกลางคืนได้”

ทวารัฐ บอกว่า สถานีชาร์จไฟฟ้าในส่วนของกระทรวงพลังงานในเดือนนี้หรือเดือนหน้าคงได้เห็น มีเอกชนหลายเจ้า ห้างสรรพสินค้าหลายแห่ง อาคารใหญ่ๆหลายที่ เริ่มจากใน กทม.และออกไปสู่ภูมิภาค จากมาตรการสนับสนุน 150 หัวจ่ายแรก โดยยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มแรกที่จะเข้ามาคือรถยนต์นั่งหรือรถเก๋ง

ความท้าทายสำคัญเมื่อจุดเริ่มมีพร้อมๆกัน ประเทศไทยเราก็มีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำอาเซียนในเรื่องของยานยนต์ไฟฟ้า ที่ในวันนี้มีคู่แข่งสำคัญคือสิงคโปร์ แต่เราก็ยังมีความได้เปรียบในเรื่องของราคา เพราะเราเองมีฐานการผลิต และคาดว่าจะมีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง

ในระยะเวลา 3-5 ปี ยานยนต์ไฟฟ้าวิ่งกันอยู่นับจากนี้จะเริ่มได้เห็นกันมากขึ้น เพราะในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าถือเป็นรถหรูและมีราคาแพง แต่ด้วยมาตรการของรัฐบาลที่ลงไปสนับสนุนจะทำให้ลดขนาดสนองรับกับตลาดรถยนต์ยอดนิยม ประเภท 1,500-1,600 ซีซี

“การใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะช่วยให้ประหยัดกว่าน้ำมัน ที่เมื่อเทียบกันแล้วน้ำมันจะสิ้นเปลืองกิโลเมตรละ 3 บาท...แต่ยานยนต์ไฟฟ้าถ้าชาร์จในเวลากลางคืน ช่วงประหยัดไฟ...จะสิ้นเปลืองกิโลเมตรละ 1 บาท เท่านั้น ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับขนาดของรถ และเรื่องขององค์ประกอบอื่นๆ”

และ...การชาร์จไฟแต่ละครั้งจะใช้ได้นานเพียงใดขึ้นอยู่กับเรื่องของแบตเตอรี่

ความก้าวหน้าในเรื่องของ “ยานยนต์ไฟฟ้า” หรือ “EV” เราๆ ท่านๆก็จะได้เห็นความคืบหน้าและข้อมูลที่หลากหลายทั้งในส่วนของสถานีชาร์จไฟ รวมถึงตัวของยานยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีที่ภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ ได้จากงาน “ASEAN Sustainable Energy Week 2017”

ระหว่างวันที่ 7-10 มิถุนายน พ.ศ.2560 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา เป็นงานแสดงเทคโนโลยี...การประชุมด้านพลังงานหมุนเวียน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน จัดร่วมกับงาน Renewable Energy Asia Entech Pollutec Asia และ Energy Efficiency Expo

“งานนี้ทางกระทรวงพลังงาน ได้ให้การสนับสนุนต่อเนื่องมาหลายปี และปีนี้จะเป็นปีสำคัญที่พลังงานทดแทนจะต้องพิสูจน์ตัวเองว่าจะสามารถเป็นพลังงานกระแสหลักได้”

อีกประเด็นที่ต้องกล่าวถึง กระทรวงพลังงานยังเน้นไปที่เรื่องของต้นทางเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมให้ภาคเอกชนลงทุนในรูปแบบที่เรียกว่า “ไฮบริดเฟิร์ม” เป็นพลังงานทดแทนผสมผสาน แต่ต้องจ่ายไฟแบบเสถียรภาพ ซึ่งจะพัฒนามาเป็นเสาหลัก และเป็นต้นทางสำคัญของการต่อยอดเรื่องของพลังงานทดแทนและยานยนต์ไฟฟ้า

“ในเรื่องนี้ไทยล้ำหน้าในเอเชีย กระทรวงพลังงานตั้งใจอยากใช้เวทีงานนี้ ประกาศให้ทราบถึงนโยบายด้านพลังงานทดแทน...เปิดให้ชาวต่างชาติที่มีโนว์ฮาวเทคโนโลยีเข้ามาลงทุน ซึ่งโครงการไฮบริดเฟิร์มจะเปิดรับซื้อในไตรมาสที่ 3–4 ของปี 2560 นี้ และจะเป็นแห่งแรกของอาเซียนอีกด้วย”

ดร.ยศพงษ์ ลออนวล นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) เสริมว่า อนาคตจะเกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ภายในปี 2568 คาดว่าน่าจะเป็นสัดส่วน 5-10 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ใหม่ทั้งหมด เมื่อบวกกับแผนที่จะติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ไม่น้อยกว่า 150 สถานีให้ได้ทั่วประเทศภายในปี 2562 จะยิ่งทำให้เกิดการตื่นตัว

จากแผนของภาครัฐร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชนที่จะส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ในอนาคตรถยนต์ไฟฟ้าจะสามารถวิ่งได้ระยะทาง 300 กิโลเมตรต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง และมีราคาที่สามารถแข่งขันได้ ก็จะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการใช้งานมากขึ้น

ข้อเด่นสำคัญ ยานยนต์ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน...ลดต้นทุนการใช้พลังงานได้มากกว่า 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับรถยนต์ทั่วไปที่ใช้น้ำมัน

สรรชาย นุ่มบุญนำ รองกรรมการผู้จัดการสายบริหารโครงการ บริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) ผู้จัดงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2017 ย้ำว่า งานนี้จะมีเรื่องของความก้าวหน้าทางด้านพลังงานทดแทนในรูปแบบของ 4.0 ซึ่งจับต้องได้เป็นรูปธรรม...เป็นเรื่องสำคัญที่จะพลิกโฉมเรื่องของพลังงาน 4.0

“ยานยนต์ไฟฟ้า” ยุคพลังงาน 4.0 ไม่ใช่แค่งานโชว์ แต่กำลังจะก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันคนไทยมากขึ้น อาจจะเป็นจุดพลิกโฉมวงการอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่กำลังเดินหน้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่ “พลังงานฟอสซิล” ทั้งก๊าซและน้ำมัน...กำลังจะกลายเป็นอดีต.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ