นางสาวพรเพ็ญ สดศรีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยล่าสุดในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาว่า เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวในอัตราใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 ยังมีแรงส่งที่จะขยายตัวได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การขยายตัวยังค่อยเป็นค่อยไป และใช้เวลาที่จะกระจายตัวไปสู่การใช้จ่ายภาคเอกชนในอีกระยะหนึ่ง
ทั้งนี้ ภาคการส่งออกกลับมาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่องตลอดไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ โดยในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น 5.9% เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดย 3 ปัจจัยที่ทำให้ภาคส่งออกดีขึ้นคือ กำลังซื้อที่ดีขึ้นของต่างประเทศ ผลิตผลทางการเกษตรของไทยมีปริมาณมากขึ้นในปีนี้ และกระแสความต้องการสินค้าเทคโนโลยี (อินเตอร์เน็ต ออฟ ธิง) โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนั้นเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯนั้น เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของการส่งออกของไทย และความสามารถการแข่งขันจากเงินบาทนั้น ต้องดูเฉลี่ยเทียบกับสกุลคู่ค้าคู่แข่งทั้งหมด ซึ่งเท่าที่มีการติดตามพบว่าปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกมากที่สุด คือ กำลังซื้อจากต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวที่ดีขึ้นของภาคการส่งออกยังไม่ได้ส่งผ่านมายังการใช้จ่ายภาคเอกชน และการผลิตภาคอุตสาหกรรมมากเท่าที่ควร โดยในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวติดลบ 1.7% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตพยายามระบายสต๊อกสินค้าเดิมออกไปก่อน เมื่อมีคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นแทนการผลิตใหม่ แต่คาดว่าในอนาคตเมื่อสต๊อกลดลงจนถึงระดับที่น่าพอใจแล้ว การผลิตภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น ขณะที่ดัชนีการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น 3.6% ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมานั้น เป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าบริการรับการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาล ขณะที่สินค้าคงทนเพิ่มขึ้นบ้างจากยอดขายมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเกษตรกรที่เริ่มมีรายได้ที่ดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้นเริ่มใช้จ่าย แต่ในส่วนของสินค้ากึ่งคงทน เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และสินค้าจำเป็นยอดขายยังไม่ดีขึ้น.