ดัชนีเศรษฐกิจฐานรากทรุด ประชาชนกังวลสินค้าแพงค่าครองชีพกระฉูด

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ดัชนีเศรษฐกิจฐานรากทรุด ประชาชนกังวลสินค้าแพงค่าครองชีพกระฉูด

Date Time: 18 พ.ค. 2560 06:30 น.

Summary

  • ธนาคารออมสินเผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาสแรกปีนี้ 47.2 ลดลงจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากประชาชนกังวลเรื่องราคาสินค้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.ลดลง

Latest

­­­ปิดจบบัญชีม้าบุคคล 1.92 ล้านบัญชี 6 หน่วยงานรัฐลุย “ม้านิติบุคคล” หลังแนวโน้มพุ่ง

ธนาคารออมสินเผยดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก ไตรมาสแรกปีนี้ 47.2 ลดลงจากไตรมาส 4 ปีที่แล้ว เนื่องจากประชาชนกังวลเรื่องราคาสินค้า และค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน เม.ย.ลดลงเนื่องจากวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์

นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจฐานราก หรือ GSI ไตรมาส 1 ปี 2560 ได้สำรวจกลุ่มตัวอย่างประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาท จำนวน 1,843 ตัวอย่าง พบว่าดัชนี GSI ไตรมาส 1 อยู่ที่ระดับ 47.2 ลดลงจากไตรมาส 4 ปี 2559 ที่อยู่ระดับ 49.9 เนื่องจากประชาชนระดับฐานรากรู้สึกว่า ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศไทยในปัจจุบันฟื้นตัวค่อนข้างล่าช้า ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูง ประกอบกับโอกาสในการหางานทำยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ

สำหรับ GSI ในอนาคตอีก 6 เดือนข้างหน้า ประชาชนระดับฐานรากมีมุมมองที่ดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.4 เนื่องจากความคาดหวังว่า รัฐบาลจะมีมาตรการหรือโครงการที่มาสนับสนุนช่วยเหลือการดำรงชีวิต และเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ราคาผลผลิตทางการเกษตรเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาดัชนีความเชื่อมั่นในด้านต่างๆเทียบกับไตรมาสก่อนพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเพียงด้านเดียว ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการหรือโครงการภาครัฐที่เข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น จากมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ตั้งแต่ปลายปี 2559 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2560 และยังเป็นผลมาจากมาตรการหรือโครงการภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินเพื่อแก้ไขหนี้นอกระบบ และมาตรการพักชำระหนี้ต่างๆ เป็นต้น

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยฯยังได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการรับรู้ข้อมูลหรือข่าวสารเพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนฐานราก โดยเมื่อสอบถามถึงการนำข้อมูลหรือข่าวสารมาใช้ เพื่อการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตของประชาชนฐานราก พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่า 70% ได้นำข้อมูลหรือข่าวสารมาใช้ โดย 3 อันดับแรก คือ เรื่องราคาสินค้าอุปโภคหรือบริโภค 17.9% ข่าวสวัสดิการจากภาครัฐ 10.4% และราคาซื้อ-ขาย ในปัจจุบันของสินค้าเกษตรหรือปศุสัตว์ 10.3% โดยมีเพียงบางส่วนที่ไม่นำข้อมูลหรือข่าวสารมาใช้ เพราะมองว่าข้อมูลข่าวสารนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้น้อย และข้อมูลไม่ตรงกับการประกอบอาชีพ

ด้านนายศุภรัตน์ ศิริสุวรรณางกูร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน เม.ย.ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรม อยู่ที่ระดับ 86.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 87.5 จากเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา โดยค่าดัชนีที่ลดลงเกิดจากสาเหตุดังนี้ ยอดคำสั่งซื้อในประเทศและต่างประเทศลดลง ส่งผลให้ปริมาณการผลิตสินค้าของภาคอุตสาหกรรมลดลงตามไปด้วย เนื่องจากเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันในเทศกาลสงกรานต์ ทำให้มีวันทำงานน้อยกว่าเดือน มี.ค.

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 100.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 99.0 ในเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะผู้ประกอบการเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทย ในครึ่งหลังของปีนี้ จะขยายตัวดีขึ้นจากการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมทั้งการส่งออกที่มีการขยายตัวต่อเนื่อง

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ยอดผลิตรถยนต์ของประเทศไทยเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เทียบช่วงเดียวกับปีก่อน ลดลง 12.85% หรืออยู่ที่ 120,473 คัน ถือว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำสุดในรอบ 64 เดือน เนื่องจากเดือน เม.ย.มีวันทำงานน้อย

ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวเป็นการลดลงจากทั้งการผลิตเพื่อขายในประเทศลดลง 4.46% โดยสามารถผลิตได้ 55,007 คัน และการผลิตเพื่อส่งออก 18.84% ที่สามารถผลิตได้ 65,466 คัน สอดคล้องกับยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือน เม.ย. ที่มีจำนวนส่งออกได้ 68,927 คัน ต่ำที่สุดในรอบ 48 เดือน ลดลงจากเดือน เม.ย.ปี 2559 ประมาณ 14.37% โดยยอดการส่งออกลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดเอเชีย และออสเตรเลีย ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรถยนต์ 38,167 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า 11.41%

ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศของเดือน เม.ย.2560 มีจำนวน 63,267 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมา 15.1% มีปัจจัยมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่ดีขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น การแนะนำรถยนต์นั่งรุ่นใหม่ หลายรุ่นและการจัดงานมอเตอร์โชว์ เมื่อช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. เป็นต้น.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ