เปิดเทอมเงินสะพัด 2.7 หมื่นล้าน

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดเทอมเงินสะพัด 2.7 หมื่นล้าน

Date Time: 10 พ.ค. 2560 06:01 น.

Summary

  • บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 60 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 27,000 ล้านบาท ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับปี 59 ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นค่า...

Latest

โควิดจบ แต่หนี้ยังไม่หมด เครดิตบูโร เผยลูกหนี้ 2.2 ล้านราย มูลหนี้ 2 แสนล้านบาท รอสะสาง

พ่อแม่ในกรุงกู้หนี้ยืมสินทุบกระปุกเพื่ออนาคตลูก

บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 60 ผู้ปกครองในกรุงเทพฯ และปริมณฑล น่าจะใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานคิดเป็นเม็ดเงินสะพัด 27,000 ล้านบาท ขยายตัว 4% เมื่อเทียบกับปี 59 ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นค่าเทอม 12,900 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากค่าเทอม เช่น ค่าบำรุงการศึกษา 4,500 ล้านบาท ค่ากิจกรรมพิเศษในโรงเรียน 4,200 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าชุดนักเรียน หนังสือ และอุปกรณ์การเรียน ค่าเรียนกวดวิชา ค่าเรียนเสริมทักษะ ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 5,400 ล้านบาท ทั้งนี้ นักเรียนใหม่ที่เข้าสู่ระบบการศึกษามีส่วนหนุนให้การใช้จ่ายด้านค่าเทอมเพิ่มขึ้น โดยผู้ปกครองยังคงให้ความสำคัญกับการเรียนกวดวิชา จึงหนุนให้เม็ดเงินค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปีนี้ จึงเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 59

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้สำรวจพฤติกรรมผู้ปกครองที่มีบุตรหลานที่กำลังศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจำนวน 500 คน ครอบคลุมสาขาอาชีพหลักและระดับรายได้ พบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่กังวลเกี่ยวกับสภาพคล่องทางการเงินช่วงเปิดเทอม โดยส่วนใหญ่ 70% มองว่าเศรษฐกิจอยู่ในภาวะทรงตัวถึงดีขึ้น เมื่อเทียบกับในช่วงเปิดเทอมใหญ่ของปีก่อน และอีก 30% มองว่า เศรษฐกิจแย่ลง ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 62% ให้ความสำคัญกับการเรียนเสริมทักษะ เช่น ดนตรี กีฬา การทำกิจกรรมพิเศษในโรงเรียน รวมถึงการเรียนกวดวิชาเพิ่มเติมเป็นพิเศษ ขณะที่อีก 38% ที่กังวลกับสภาพคล่องทางการเงินส่วนใหญ่ปรับตัวด้วยการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตประจำวัน หารายได้เสริมเพิ่ม รวมถึงหาซื้อสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาในราคาประหยัด

สำหรับแหล่งที่มาของเงินเพื่อใช้จ่ายส่วนใหญ่ 80% มาจากเงินเก็บออม รองลงมาเป็นการยืมญาติหรือเพื่อน 4% ที่เหลือกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน ใช้บัตรกดเงินสด ใช้บริการโรงรับจำนำ และผ่อนชำระบัตรเครดิต เป็นต้น ทั้งนี้ ยังพบว่า ผู้ปกครองจัดสรรค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานอยู่ในลำดับต้นๆ สะท้อนการให้ความสำคัญกับการศึกษาของบุตรหลาน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ