'พาณิชย์' เปิดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว จนถึงวันที่ 30 พ.ค. ก่อนนำมาปรับปรุงรายละเอียดอีกครั้ง เชื่อดึงเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพิ่มแน่
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เปิดให้ทุกภาคส่วนที่ต้องการจะแสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ต่อร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ... สามารถยื่นแสดงความเห็นเข้ามายังกรมฯ ได้จนถึงวันที่ 30 พ.ค.นี้ ซึ่งกรมฯ จะนำข้อเสนอแนะทั้งหมดไปรวบรวม เพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบธุรกิจให้มากที่สุด โดยขั้นตอนขณะนี้ร่างกฎหมายผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และอยู่ระหว่างเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ต่อไป
สำหรับการยกร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว เพื่อแก้ไขปัญหากรณีที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยห้างหุ้นส่วนและบริษัท ได้กําหนดให้ผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัทจํากัด และผู้ถือหุ้นของบริษัทจํากัดต้องมีจํานวนตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ซึ่งในทางปฏิบัติมักก่อให้เกิดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นด้วยกัน รวมทั้งก่อให้เกิดความไม่สะดวกในการลงทุนจัดตั้งบริษัทจํากัดเพื่อประกอบธุรกิจ
“ข้อมูลทางสถิติพบว่า การถือหุ้นในบริษัทจํากัด ส่วนใหญ่มีสัดส่วนการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นคนหนึ่งที่ถือหุ้นเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งถือได้ว่าเป็นเจ้าของกิจการที่แท้จริงอยู่แล้ว การยกร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชนที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจเพียงคนเดียว โดยไม่ประสงค์จะร่วมทุนกับคนอื่น หรือไม่สามารถหาผู้ร่วมทุนได้ และยังเป็นการลดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นด้วย”
นอกจากนี้ กฎหมายฉบับนี้ยังสอดคล้องกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เศรษฐกิจการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยเฉพาะการเริ่มจัดตั้งองค์กรธุรกิจอย่างง่าย ไม่ยุ่งยาก ทําให้บทบัญญัติของกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่สอดคล้องกับการประกอบธุรกิจ จึงต้องยกร่างกฎหมายใหม่เพื่อนำมาบังคับใช้ และสนับสนุนการประกอบธุรกิจของประเทศ และทำให้การประกอบธุรกิจมีความง่ายขึ้น
นางสาวบรรจงจิตต์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการมีกฎหมายฉบับนี้ จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ที่อยู่นอกระบบจะสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ เพราะเดิมเอสเอ็มอีที่ได้รับความช่วยเหลือเป็นกิจการที่ค่อนข้างมั่นคง และอยู่ในระบบเท่านั้น อีกทั้งยังสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดันเอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยที่ผ่านมา ได้มีมาตรการด้านการเงิน การคลัง สินเชื่อ และด้านภาษี เพื่อช่วยสนับสนุนเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง
สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.การจัดตั้งบริษัทจํากัดคนเดียว พ.ศ. ... มีทั้งหมด 9 หมวด 64 มาตรา ได้แก่ หมวด 1 บททั่วไปเกี่ยวกับความเป็นนิติบุคคลและสิ่งที่บริษัทต้องปฏิบัติ หมวด 2 การจัดตั้งบริษัท หมวด 3 การบริหารจัดการ หมวด 4 การจ่ายเงินปันผล หมวด 5 การเพิ่มทุนและการลดทุน หมวด 6 การแปรสภาพเป็นบริษัทจํากัด หมวด 7 การเลิกบริษัท หมวด 8 การถอนทะเบียนร้าง หมวด 9 บทกําหนดโทษ.