นายจงรัก รัตนเพียร ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เพื่อให้เหมาะสมกับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงในหลาย ๆ ด้าน ธนาคารจึงประกาศปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.15% เพื่อส่งผ่านต้นทุนทางการเงินที่ลดลงและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการสนับสนุนสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นการแบ่งเบาภาระเพื่อให้ลูกค้ามีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้น และช่วยเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจและบริหารจัดการรายจ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยการปรับลดดอกเบี้ยลูกค้ารายใหญ่ชั้นดี ประเภทเงินกู้แบบมีระยะเวลา (MLR) ปรับลด 0.08% จาก 7.05% เป็น 6.97% ดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายใหญ่ชั้นดีประเภทเงินเบิกเกินบัญชี (MOR) ปรับลด 0.15% จาก 7.09% เป็น 6.94% ดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยชั้นดี (MRR) ปรับลด 0.05% จาก 7.08% เป็น 7.03% นอกจากนี้ ธนาคารได้มีการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.05%-0.20% มีผล 16 พ.ค. นี้
ด้านนายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (TTB) กล่าวว่า ทีทีบี มีความห่วงใยลูกค้าสินเชื่อทุกกลุ่ม จึงปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้สูงสุด 0.15% ต่อปี สอดคล้องกับมติ กนง. ที่มีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายเพื่อช่วยลดภาระทางการเงินของลูกค้าและเพิ่มสภาพคล่อง ให้สามารถตั้งรับกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับลดลง โดยธนาคารจะปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงทุกประเภท ได้แก่ ดอกเบี้ย MOR ลดลง 0.15% ต่อปี ส่วนดอกเบี้ย MLR ลดลง 0.10% ต่อปี และดอกเบี้ย MRR ลดลง 0.05% ต่อปี มีผลตั้งแต่วันที่ 16 พ.ค. นี้ ทั้งนี้ ธนาคารยังเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องการออมภายใต้สภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน เพื่อช่วยเหลือผู้ฝากรายย่อยธนาคารพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์ บัญชี ทีทีบี โนฟิกซ์ สูงสุด 0.40% ต่อปี มีผลวันที่ 1 มิ.ย. 2568
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยผ่านบทวิเคราะห์จากศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า หลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของกนง. เมื่อปลายเดือนเม.ย. 68 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่หลายแห่งเริ่มทยอยปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ลงในกรอบ 0.05-0.15% และรูปแบบของการปรับดอกเบี้ยของแบงก์ในรอบนี้เป็นการปรับลดดอกเบี้ย 2 ขา โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำทั่วไปบางตัวลงในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันเช่นกัน
ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การลดดอกเบี้ยของ กนง. 3 รอบที่ผ่านมา เริ่มมีกระทบส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของระบบแบงก์ ให้มีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่องในไตรมาส 2 ปีนี้ มาอยู่ที่ 2.83% และมีโอกาสลดลงต่อเนื่องอีกในช่วงครึ่งหลังของปี 68 แต่ผลของการลดดอกเบี้ยส่งผลดีต่อลูกหนี้สินเชื่อธุรกิจและรายย่อย โดยคาดสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อบุคคลที่มีหลักประกันได้รับอานิสงส์จากการลดดอกเบี้ยเงินกู้ก่อนสิ้นปี 68 จะมีสัดส่วนประมาณ 56.6% ของสินเชื่อรวมทั้งระบบแบงก์ไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่ กนง. ลดดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ในวันที่ 30 เม.ย. มี 4 ธนาคารพาณิชย์ที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และทีทีบี และมี 2 ธนาคารที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากด้วย คือ ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย