ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแรง และการฟื้นตัวยังไม่ถึงจุดแข็งแกร่ง สัญญาณหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินของคนจำนวนมหาศาล โดยเฉพาะ “ฐานราก” ของประเทศ มีข้อมูลจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยชี้ว่า ปี 2566 หนี้นอกระบบในไทยมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 4 ล้านล้านบาท หรือ 20% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ในขณะเดียวกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยยังพบว่า คนไทยกว่า 63% อยู่ในสถานะ “ได้รับบริการทางการเงินน้อยเกินไป” (Underserved) หรือ “ไม่ได้รับบริการเลย” (Unserved)
เหล่านี้เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำลังสะท้อนให้เห็นว่าระบบธนาคารพาณิชย์แบบดั้งเดิม อาจไม่สามารถรองรับความต้องการทางการเงินของคนทั้งประเทศได้อย่างทั่วถึง จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะให้ประเทศไทย เพิ่มผู้เล่นที่เป็นสถาบันการเงินในรูปแบบของ “Virtual Bank” หรือธนาคารไร้สาขา ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยความคาดหวังว่าจะช่วยเพิ่มการแข่งขัน และปิดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงิน
ล่าสุดมีข่าวอย่างไม่เป็นทางการจากกระทรวงการคลังว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คัดเลือก 3 กลุ่มทุนจากทั้งหมด 5 ราย ที่ผ่านคุณสมบัติเข้าสู่รอบสุดท้ายแล้ว ท่ามกลางความเห็นต่าง โดยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาแสดงจุดยืนว่าควรให้ใบอนุญาตแก่ผู้ประกอบการทั้ง 5 รายที่ผ่านเกณฑ์คุณสมบัติ
ความขัดแย้งทางนโยบายนี้ไม่ใช่เพียงเรื่องของตัวเลข แต่สะท้อนถึงทิศทางและวิสัยทัศน์ที่แตกต่างในการปฏิรูประบบการเงินของประเทศ ในขณะที่ ธปท. เน้นความระมัดระวังและคัดเลือกเพียงกลุ่มที่เชื่อว่ามีความพร้อมสูงสุด กระทรวงการคลังกลับมองว่าการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นมากรายจะช่วยเร่งให้เกิดนวัตกรรมและการแข่งขันที่จำเป็นต่อการพัฒนา
หากพิจารณาจากรายชื่อผู้สมัครที่มีข่าวรั่วไหลออกมา จะพบว่าหลายรายเป็นพันธมิตรระหว่างกลุ่มทุนใหญ่กับบริษัทเทคโนโลยี ซึ่งนำมาสู่ข้อสงสัยว่า Virtual Bank ที่จะเกิดขึ้นจะมีความแตกต่างจากธนาคารดั้งเดิมมากน้อยเพียงใด และ แนวทางการคัดเลือกเช่นนี้ จะช่วยให้เกิด Virtual Bank ที่มีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงินได้จริงหรือไม่?
รศ. ดร. วิพุธ อ่องสกุล คณบดีคณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า Virtual Bank หรือธนาคารไร้สาขา มีศักยภาพสูงในการช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ถูกจัดว่าเป็น Underbanked และ Unbanked ซึ่งยังเข้าไม่ถึงบริการจากธนาคารแบบดั้งเดิมได้อย่างทั่วถึง
โดย Virtual Bank ไม่เพียงลดต้นทุนการดำเนินงานจากการไม่มีสาขาเท่านั้น แต่ยังสามารถออกแบบระบบและบริการใหม่ตั้งแต่ต้น ด้วยโครงสร้างที่ยืดหยุ่นและพึ่งพาเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ส่งผลให้สามารถให้บริการลูกค้าได้รวดเร็วและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
แม้ธนาคารพาณิชย์เดิมจะมีแอปพลิเคชันและบริการออนไลน์อยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถเทียบได้กับรูปแบบ Virtual Bank ที่เป็น Digital Native อย่างแท้จริง ทั้งในแง่ต้นทุน โครงสร้าง และการให้บริการ โดยเฉพาะเมื่อต้องออกแบบบริการสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่แตกต่างไปจากฐานลูกค้าเดิม
สำหรับกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะออกใบอนุญาต Virtual Bank จำนวน 3 ราย จากที่เคยพิจารณาไว้ 5 ราย รศ. ดร. วิพุธ มองว่าเป็นจำนวนที่ น้อยเกินไป เมื่อเทียบกับขนาดของตลาดกลุ่มเป้าหมาย
“นี่คือตลาดที่ใหญ่มาก และมีความต้องการแท้จริง การให้ใบอนุญาตเพียง 3 ราย อาจทำให้ผู้เล่นไม่มากพอที่จะแข่งขันได้อย่างเข้มข้น และอาจนำไปสู่การพัฒนาอย่างล่าช้า ซึ่งท้ายที่สุดกระทบกับประชาชนโดยตรง” รศ. ดร. วิพุธ กล่าว
พร้อมเน้นย้ำว่า แม้จะเข้าใจเจตนาของ ธปท. ในการควบคุมความเสี่ยงและรักษาเสถียรภาพทางการเงิน แต่การแข่งขันและความมั่นคงสามารถไปด้วยกันได้ หากออกแบบระบบกำกับดูแลอย่างรัดกุม เช่น กำหนดเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำในระดับสูง บังคับใช้กฎการตั้งสำรองสินเชื่อ และควบคุมความเสี่ยงด้านกระจุกตัว
รศ. ดร. วิพุธ กล่าวต่อว่า “Virtual Bank จะไม่ล้มง่าย ๆ หากอยู่ภายใต้กฎที่รัดกุม เช่น มีเงินทุนหนา ต้องตั้งสำรองเยอะ และห้ามปล่อยกู้กระจุกตัวเกินไป สิ่งเหล่านี้ล้วนสร้างความมั่นคงให้ระบบโดยรวมได้”
นอกจากนี้ รศ.ดร. วิพุธ ยังเสนอว่า ธปท. ควรเริ่มต้นด้วยการให้ใบอนุญาตจำนวน 5 ราย เพื่อเปิดพื้นที่ให้มีผู้เล่นที่หลากหลาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการใหม่ที่พร้อมจะออกแบบบริการโดยไม่ยึดติดกับโมเดลธุรกิจเดิม "หาก Virtual Bank ถูกผูกขาดโดยผู้เล่นรายเดิมหรือธนาคารใหญ่ ก็อาจไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เพราะไม่มีแรงจูงใจที่จะ disrupt ระบบที่ตัวเองเป็นเจ้าของอยู่"
ขณะที่พัฒนาการของ Virtual Bank ในหลายประเทศในเอเชีย เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และเกาหลีใต้ ที่เปิดให้มี Virtual Bank อย่างเสรี แม้จะยอมรับว่ามีความเสี่ยงในระยะแรก เช่น การขาดทุนหรือการล้มเลิกกิจการ แต่รัฐมีระบบควบคุมกำกับความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ
โดยในมุมของ รศ.ดร. วิพุธ มองว่า ธปท. ของไทยเองก็มีศักยภาพในการกำกับดูแลเช่นกัน และไม่ควรกังวลเกินไปจนเสียโอกาสเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ในขณะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญแรงกดดันหลายด้าน โดย Moody's เพิ่งปรับลดมุมมองเครดิตของไทยและบางสถาบันการเงินเป็นเชิงลบ และความล่าช้าในการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจยิ่งทำให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างยากลำบาก รศ.ดร. วิพุธจึงเสนอว่า การผลักดัน Virtual Bank ควรถูกยกระดับเป็น Priority Policy ไม่ใช่แค่ประเด็นทางเทคนิคของผู้กำกับดูแล เพราะการเปิดให้มีผู้เล่นหลากหลายมากขึ้น จะช่วยกระจายโอกาส สร้างนวัตกรรม และอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วกว่า