มึน! เศรษฐกิจดิ่งแบงก์กำไรฉ่ำ คลังจี้ธปท.หาคำตอบ-ผ่อนปรนมาตรการเงิน

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

มึน! เศรษฐกิจดิ่งแบงก์กำไรฉ่ำ คลังจี้ธปท.หาคำตอบ-ผ่อนปรนมาตรการเงิน

Date Time: 13 พ.ค. 2568 07:00 น.

Summary

  • รัฐบาลดิ้นหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ สุดมึน! เศรษฐกิจไม่ดี แต่แบงก์กำไรบานฉ่ำทุกแห่ง ชี้ต้องมีสิ่งผิดพลาดแน่ ด้าน “ลวรณ” เผยคลังเร่งพัฒนาระบบจัดเก็บรายได้ทุกประเภท ปิดทางเลี่ยงภาษี

Latest

คนไทยเหนื่อยหน่อย! “เศรษฐกิจ” อาจตกต่ำอีก 2 ปี ธุรกิจจำนวนน้อยมีโอกาสเติบโต เตรียมรับมือ-ปรับตัว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ กระทรวงการคลังเร่งหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ คาดว่าไม่เกินเดือนมิ.ย. 68 จะได้คำตอบชัดเจนว่าจะใช้มาตรการใด โดยเฉพาะการแจกเงิน 10,000 บาทให้กลุ่มอายุ 16-20 ปี จะเลื่อนหรือยกเลิก ซึ่งจะพิจารณาความจำเป็นของการใช้เงินงบประมาณให้เกิดความคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด

ขณะที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้หารือกับทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อหาแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเร็วๆ นี้จะประชุมคณะกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อเตรียมการรองรับวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว และผลกระทบจากนโยบายภาษีทรัมป์ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ มาตรการการคลังที่จะใช้กระตุ้นเศรษฐกิจใกล้หมดแล้ว เพราะฉะนั้น จึงเหลือมาตรการทางการเงินเท่านั้นที่จะใช้ได้ ดังนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ต้องเร่งผ่อนปรนมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะมาตรการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม เพื่อให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ และทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ขณะเดียวกัน มีการตั้งคำถามว่า เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี เหตุใดสถาบันการเงินมีกำไรทุกแห่ง ซึ่งต้องมีหลักเกณฑ์ใดผิดพลาด จึงขอฝากให้ธปท.พิจารณาเรื่องนี้ด้วย นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างเร่งพัฒนาระบบรายได้ทั้งระบบ เพื่อให้จัดเก็บรายได้เป็นไปตามเป้าหมายมากที่สุด ลดการเลี่ยงภาษี

นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปีนี้เป็นปีท้าทายมากของกระทรวงการคลัง เพราะเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และภาษีทรัมป์ ทำให้หน่วยงานต่างๆ ลดคาดการณ์เศรษฐกิจลง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ก็ปรับลดลงเหลือขยายตัว 2.1% จากเดิม 3% ซึ่งมีผลต่อเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลแน่นอน เพราะเมื่อเศรษฐกิจลดลง 1% รายได้จะหายไป 170,000 ล้านบาท “การลดคาดการณ์เศรษฐกิจ ทำให้รายได้รัฐลดลงด้วย แต่กระทรวงการคลังจะเร่งปรับโครงสร้างภาษี พัฒนาระบบรายได้ เพื่อให้จัดเก็บเพิ่มขึ้น ส่วนแนวคิดปรับโครงสร้างจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) คณะกรรมการปฏิรูปภาษีอยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่าจะชัดเจนเร็วๆ นี้”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้จากผู้ประกอบการที่รายได้มากกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี แต่ผู้ประกอบการจำนวนมากเลี่ยงภาษีแวต ทั้งๆ ที่ภาษีแวตเป็นภาษีซื้อหักภาษีขาย ผู้ประกอบการจะเสียภาษีอัตราต่ำ หรืออาจไม่เสียเลย แต่ก็ต้องจดทะเบียนไว้ ส่วนจะเลือกใช้วิธีแบ่งประเภทจัดแวต เป็นสินค้ากินไม่ได้และกินได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการปฏิรูปภาษี “แนวทางการจัดเก็บแวตขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปว่าจะปรับลดหรือปรับเพิ่มจาก 1.8 ล้านบาท หรือเป็น 1.5 ล้านบาท ต้องรอผลพิจารณาของคณะปฏิรูปภาษีก่อน แต่การดำเนินการจะปิดช่องทางเลี่ยงภาษี และต้องทำให้การเสียภาษีเป็นเรื่องง่าย มีมาตรการจูงใจให้ทุกคนเข้าสู่ระบบภาษี เพื่อความถูกต้อง”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ