นโยบายเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ ถือเป็นนโยบายเรือธงของพรรคเพื่อไทย และเป็นอีกหนึ่งไฮไลต์นโยบายที่ทำให้ได้คะแนนเสียงจากประชาชน จนได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การบริหารงาน 2 นายกรัฐมนตรี จากนายเศรษฐา ทวีสิน สู่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร
รัฐบาลได้แจกเงิน 10,000 บาท ไปแล้ว 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้พิการ 14.5 ล้านราย ใช้เงินไป 122,000 ล้านบาท กลุ่มสอง ผู้สูงอายุ 3.02 ล้านคน ใช้เงิน 30,200 ล้านบาท
ส่วนกลุ่มสาม คือ ผู้ที่มีอายุ 16-20 ปี จำนวน 2.7 ล้านคน ใช้เงิน 27,000 ล้านบาท รอรัฐบาลกำหนดวันชัดเจนอีกครั้ง! แต่คาดว่าไม่เกินไตรมาส 2 ของปีนี้
เบ็ดเสร็จ 3 กลุ่ม ใช้เงินราว 195,000-220,000 ล้านบาท โดยมุ่งหวังว่าจะเป็นเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ และสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจ ช่วยผลักดันผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตได้ไปแตะ 3% ตามเป้าหมายของรัฐบาล
หลังจากกลุ่มแรกและกลุ่มสองได้รับเงิน 10,000 บาทเป็นที่เรียบร้อย ได้นำเงินนั้นไปจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน ซื้อสินค้า และชำระหนี้ เป็นต้น
การแจกกลุ่มสาม ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอายุ 16-20 ปี ถือเป็นกลุ่ม Gen Z คือกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่เกิดในช่วง พ.ศ. 2538-2552 อายุระหว่าง 12-26 ปี โดยกลุ่มนี้การแจกเงินของรัฐบาลจะเป็นการโอนเงินลักษณะดิจิทัลวอลเล็ต จะไม่มีการเบิกเงินสด แต่จะให้เป็นเงินดิจิทัลหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ
ด้วยเหตุผลกลุ่มอายุนี้ อยู่ในวัยเรียน มีการใช้เทคโนโลยีคล่อง ตื่นตัว และเรียนรู้ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ฉะนั้นเหมาะสมที่จะเป็นกลุ่มนำร่องใช้ระบบดิจิทัลวอลเล็ตก่อนขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆ ส่วนกลุ่มที่เหลือ คือ กลุ่มอายุ 21-59 ปีนั้น ต้องอดใจรออีกนิด....แต่คาดว่าไม่เกินไตรมาส 3-4 ของปีนี้อย่างแน่นอน
คุณสมบัติรับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
1.เป็นประชาชนสัญชาติไทย
2.มีที่อยู่ในทะเบียนบ้าน
3.อายุตั้งแต่ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่ปิดรับลงทะเบียน 15 ก.ย.67
4.มีรายได้ไม่เกิน 840,000 บาท ในปีภาษี 2566
5.มีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจรวมกัน ไม่เกิน 500,000 บาท โดยจะทำการตรวจสอบข้อมูลเงินฝาก 6 ประเภท ได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน, เงินฝากออมทรัพย์, เงินฝากประจำ, บัตรเงินฝาก, ใบรับเงินฝาก, ผลิตภัณฑ์เงินฝากในชื่อเรียกอื่นๆ ทั้งนี้ เงินฝากดังกล่าวหมายความถึง เฉพาะเงินฝากที่อยู่ในรูปสกุลเงินบาทเท่านั้น และไม่รวมถึงเงินฝากในบัญชีร่วม และเป็นเงินฝาก ณ วันที่ 31 มี.ค.67
6.ไม่อยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกในเรือนจำ
7.ไม่เคยถูกระงับสิทธิ หรือเรียกเงินคืน ในโครงการหรือมาตรการต่างๆของรัฐ
8. ไม่เคยฝ่าฝืนเงื่อนไขในโครงการหรือมาตรการต่างๆของรัฐ
“ทีมเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้สัมภาษณ์กลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Z ที่จะได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต คัดเลือกมาจากทั่วประเทศ เพื่อสะท้อนความรู้สึก และเป้าหมายการนำเงิน 10,000 บาทที่ได้รับไปใช้จ่าย เริ่มจาก
นายสุดเลิศ เลิศสุดวิชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ถ้าได้เงินจากรัฐบาล 10,000 บาท จริงๆแล้วผมอยากเอาไปลงทุนเพื่อต่อยอดรายได้ เช่น ซื้อทองคำ แต่คิดว่าไม่น่าจะเพียงพอ ตอนนี้ราคาทองคำสูงมาก เลยจะแบ่งส่วนหนึ่งไปใส่ไว้ในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ผมได้ออมเอาไว้อยู่แล้ว
ส่วนที่เหลือจะเอาไปซื้ออุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์เสริมที่เกี่ยวกับดนตรี เช่น สายไวโอลิน สายวิโอลา ยางสน เพราะผมเรียนทั้งไวโอลิน และวิโอลา รวมถึงจะเอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
“แต่ถ้าพูดถึงโครงการเงินดิจิทัล ผมว่าเป็นโครงการที่ดี ที่ทำให้คนมีเงินใช้จ่ายได้ทันที แต่จริงๆแล้ว รัฐบาลควรสร้างงาน สร้างอาชีพให้มากกว่า ในส่วนของเด็กและเยาวชน รัฐควรพัฒนาการศึกษาของประเทศให้ดีกว่านี้ครับ”
นายแก่นตะวัน เพ็ชรแก่น อายุ 17 ปี นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนกัลยาณวัตร จังหวัดขอนแก่น ซึ่งกำลังจะเลื่อนชั้นขึ้น ม.6 เล่าว่า ได้สมัครแอปพลิเคชันทางรัฐ และทำตามกติกาตามที่รัฐบาลกำหนดไว้เรียบร้อยแล้ว รอเพียงเงินเข้าบัญชีเท่านั้น ส่วนเงินที่ได้รับมา 10,000 บาทนั้น ตามความตั้งใจไว้คือเมื่อได้รับเงินมา จะแบ่งให้พ่อแม่นำไปใช้จ่ายในครอบครัว และบางส่วนจะนำไปซื้อรองเท้ากีฬา เพื่อเล่นบาส
“หลังจากทราบว่ารัฐบาลมีโครงการเติมเงิน 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้เงินประชาชนที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ผมกับเพื่อนๆ ได้ติดตามข้อมูลข่าวสารมาอย่างต่อเนื่อง บางครั้งทราบข้อมูลจากเฟกนิวส์ ที่มีข่าววิจารณ์ต่างๆนานา ซึ่งต้องยอมรับว่า เฟกนิวส์หรือข่าวสารในโซเชียล มีผลกับคนเสพข่าวสารเป็นอย่างมาก แต่โดยส่วนตัวก็เชื่อว่าเงินจำนวนดังกล่าวมีประโยชน์กับหลายคนหลายครอบครัว แต่อาจจะไม่ถึงกับจะนำมาใช้สอยฟุ่มเฟือยได้ เพราะเพื่อนหลายๆคนที่คุยกัน ต่างก็ตั้งใจจะนำเงินมาให้พ่อแม่ใช้จ่ายในครอบครัว ดีกว่านำไปใช้ในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์”
นายวีรชิต ปูธิปิน อายุ 16 ปี นักศึกษาชั้น ปวช.ปีที่ 1 วิทยาลัยเทคโนโลยีโปลิเทคนิคลานนา จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า ถ้าหากได้รับเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทนั้น จะนำไปจ่ายค่าเทอม และส่วนที่เหลือก็จะเก็บไว้ใช้จ่ายซื้อของใช้ไว้ภายในหอพัก เพราะตัวเองอยู่หอพักต้องซื้อของใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค นอกจากนี้ จะแบ่งเงินที่ได้จำนวนหนึ่งไปซื้อข้าวสาร อาหารแห้งไว้ให้กับครอบครัวด้วย หากรัฐบาลสามารถแจกเงินได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้แล้วได้จริง เชื่อว่าก็จะช่วยบรรเทาปัญหาของนักศึกษาและผู้ปกครองได้ด้วย
ทั้งนี้ ทั้งนักเรียน-นักศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ต่างเฝ้ารอการแจกเงินดิจิทัลเฟส 3 ให้กับผู้ที่มีอายุระหว่าง 16-20 ปี โดยหวังว่าเงินก้อนนี้จะมาช่วยต่อลมหายใจและแบ่งเบาภาระในครอบครัวในยุคที่ข้าวของเครื่องใช้ในยุคปัจจุบันได้ปรับขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง
นายศุภณัฐ จินดา อายุ 18 ปี เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 สายศิลป์ทั่วไป โรงเรียนเคียนซาพิทยาคม อำเภอเคียนซา จังหวัดสุราษฎร์ธานี กำลังจะเรียนต่อในคณะวิทยาการจัดการ สาขานิเทศศาสตร์นวัตกรรมการสื่อสารองค์กรและการจัดการอีเวนต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เล่าว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศแจกเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต สำหรับกลุ่มอายุ 16-20 ปี นั้น ตนดีใจเป็นอย่างมาก รีบศึกษารายละเอียด เพื่อลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐทันที หวังจะได้เงิน 10,000 บาทมาใช้จ่ายในการศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัย
เนื่องจากครอบครัวตนเองพ่อแม่แยกทางกัน ต่างมีครอบครัวใหม่ ค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูและการศึกษาเป็นภาระหน้าที่ของย่าและแม่ ซึ่งทั้ง 2 คนก็มีภาระอื่นๆอีกจำนวนมาก และตนกำลังจะเข้าศึกษาต่อระดับมหาวิทยาลัยจะต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าเครื่องแต่งกาย ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าหนังสือ ค่ากิจกรรม ค่าที่พัก ซึ่งค่อนข้างเป็นเงินจำนวนมาก โดยเฉพาะค่าที่พักก็ต้องเป็นเงินก้อน ถึงแม้ว่าการได้รับเงิน 10,000 บาท ซึ่งเป็นเงินก้อน
แต่ด้วยหลักเกณฑ์ที่ต้องใช้จ่ายต้องใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันทางรัฐและใช้ได้ในตัวอำเภอทะเบียนเท่านั้น อาจจะไม่ตรงตามจุดประสงค์ที่จะใช้จ่ายในการศึกษา ไม่สามารถนำไปชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะเริ่มต้นการศึกษาได้ แม้แต่ชุดเครื่องแต่งกาย เนื่องจากที่อยู่ตามทะเบียนบ้านอยู่ต่างอำเภอ และตนเองเป็นคนที่รูปร่างค่อนข้างใหญ่ มีข้อจำกัดไม่สามารถนำไปใช้จ่ายตรงนี้ได้ แต่อย่างน้อยก็นำไปใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียนและของใช้ชีวิตประจำวันแบ่งเบาภาระได้บ้าง
ถ้าถามว่า มีเงิน 10,000 บาท เป็นของตนเอง และตนเป็น LGBTQ ด้วยอยากนำไปใช้ส่วนตัว เช่น เสื้อผ้า เครื่องสำอาง หรือไม่ ตอบตามตรงว่า ก็อยาก แต่มันไม่สำคัญเท่ากับการเตรียมตัวที่จะเข้าศึกษาระดับมหาวิทยาลัย แต่ถ้าถามความฝัน ตนก็อยากนำเงินส่วนนี้ ไปซื้อโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเครื่องที่ใช้อยู่ปัจจุบันค่อนข้างเก่าและใกล้ใช้งานไม่ได้ ซึ่งเมื่อยิ่งเข้าสู่ระดับมหาวิทยาลัย ค่อนข้างมีความจำเป็นที่จะต้องใช้โทรศัพท์มือถือเป็นอุปกรณ์สื่อสารและค้นคว้าหาข้อมูลด้วย ซึ่งตอนนี้ผมได้มาช่วยงานร้านอาหารของแม่ ที่ อ.เกาะสมุย จะนำเงินที่ได้ไปใช้จ่าย ในการศึกษาเร็วๆนี้ด้วย
น.ส.นาฏยา ขำสวัสดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ สาขา อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า ไม่ได้เห็นด้วยกับนโยบายประชานิยมในการแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมามอบให้กับคนรุ่น Gen Z ซึ่งยังอยู่ในช่วงวัยที่กำลังศึกษา หรือเพิ่งเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดแรงงาน การที่รัฐเลือกมอบเงินจำนวนนี้ให้กับกลุ่มที่ยังไม่มีรายได้ประจำ หรือยังขาดทักษะในการบริหารจัดการเงิน อาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจสูงสุดเท่าที่ควร
ดิฉันเชื่อว่า หากเงินก้อนนี้ถูกนำไปจัดสรรให้กับกลุ่มประชากรที่มีความจำเป็นจริงๆ เช่น ผู้สูงอายุ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ หรือเกษตรกรที่ประสบปัญหารายได้ไม่แน่นอน อาจเกิดประโยชน์ที่จับต้องได้มากกว่าในระยะสั้นและยาว
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อนโยบายดังกล่าวได้ถูกประกาศและเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว ดิฉันในฐานะคนรุ่นใหม่ก็ได้ลงทะเบียนรับสิทธิ์เช่นกัน และตั้งใจว่าจะนำเงินนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เช่น การลงทุนในทักษะหรือความรู้เพิ่มเติม อาจเป็นการซื้อหนังสือ เข้าร่วมเวิร์กช็อป หรือเรียนออนไลน์ในเรื่องที่สามารถต่อยอดอาชีพในอนาคตได้ เพื่อให้เงินก้อนนี้ไม่หมดไปโดยไร้ทิศทาง และที่สำคัญก็อยากจะใช้เงินให้เหมาะสมกับสถานภาพและความสามารถในการใช้เงินของตัวเอง เรียนรู้ที่จะบริหารจัดการให้เงินที่ได้รับมานั้นเกิดประโยชน์และเหมาะสมต่อไป
นางสาวพรกนก พุฒพิสุทธิ์ อายุ 17 ปี โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย กล่าวว่า หากว่าหนูได้รับเงิน 10,000 บาท จากรัฐบาลก็คงต้องไปดูในเงื่อนไขของการใช้จ่ายว่าจะนำเงินดังกล่าวไปใช้อะไรได้บ้าง ถ้าสามารถนำไปจ่ายค่าเทอมได้ก็จะดีมากๆ อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นหนูคงจะนำเงินก้อนนี้ไปใช้เพื่อเป็นทุนการศึกษาเป็นหลัก โดยอาจจะนำไปซื้อหนังสือเรียนและคอร์สเรียนเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มพูนความรู้ เพราะปีนี้ เป็นปีที่หนูต้องเตรียมสอบเข้าในระดับมหาวิทยาลัย
“สำหรับการแจกเงิน 10,000 บาท ให้แก่เด็กใน Gen Z นั้น หลายคนอาจจะมองว่าเป็นการหว่านเงิน อาจจะทำให้เกิดการใช้จ่ายที่ไม่มีประโยชน์ แต่สำหรับหนูนั้นมองว่า ถ้าเรานำเงินไปใช้อย่างเหมาะสม โดยเฉพาะการนำไปลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ปกครอง หนูมองว่า โครงการนี้ก็จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมได้”
นางสาวชนัญชิดา คานกลาง อายุ 20 ปี จังหวัดชัยนาท เล่าสั้นๆว่า หากได้เงิน 10,000 บาท จากรัฐบาลจะนำไปซื้อโทรศัพท์สมาร์ทโฟน เพราะตนไม่เคยมีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมาก่อนเลยในชีวิต ทุกวันนี้ทำงานเป็นลูกจ้างที่ร้านส้มตำของลุงกับป้า ที่เลี้ยงดูตนเองมาตั้งแต่เด็ก จะใช้เงินซื้อโทรศัพท์เครื่องละไม่เกิน 5,000 บาท แบ่งให้ลุงกับป้าเป็นค่าน้ำค่าไฟ และที่เหลือก็จะเก็บไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันต่อไป “อยากขอบคุณรัฐบาลที่แจกเงินหมื่นให้ เพราะถ้าหากไม่มีเงินก้อนนี้ก็คงไม่มีมือถือสมาร์ทโฟนเครื่องแรกในชีวิตอย่างแน่นอน จะได้เอาไว้ดูข่าวสาร ดูคลิปตลกๆไว้ผ่อนคลายเวลาว่างหลังเลิกงาน”
นางสาวชีวาพร มรกตจินดา อายุ 17 ปี กล่าวว่า หากได้รับเงิน 10,000 บาท จากรัฐบาลจะแบ่งเงินไปซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ รวมถึงนำไปใช้จ่ายอุปกรณ์การเรียนการสอนด้วย
ทั้งนี้ เห็นด้วยกับรัฐบาลที่แจกเงิน 10,000 บาท แม้จะไม่สามารถซื้อสินค้าในห้างสรรพสินค้า หรือร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านได้ แต่สามารถนำไปซื้อร้านค้าในชุมชน เป็นการช่วยเหลือพ่อค้าแม่ค้าในชุมชนให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในชุมชนได้
นางสาวศิรดา จิตกุล อายุ 18 ปี เพิ่งเรียนจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนสินสมุทร อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และกำลังจะเข้าศึกษาต่อที่คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ เล่าว่า ได้สมัครเข้าร่วมโครงการดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล ถึงแม้ยังจะไม่มีการตอบรับว่าจะได้รับเงินสนับสนุน 10,000 บาท หรือไม่ แต่คาดหวังว่าจะได้รับเงินสนับสนุนจำนวนดังกล่าว จะสามารถนำไปต่อยอด เป็นทุนการศึกษาอาชีพในฝันของตัวเอง
“รู้สึกดีใจที่รัฐบาลจัดตั้งโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ตให้กับกลุ่มเยาวชน ซึ่งหากตนเองได้รับ ก็จะนำเงินดังกล่าวไปเป็นทุนการศึกษา ซื้ออุปกรณ์การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัย จะได้แบ่งเบาภาระของพ่อแม่ อีกทั้งยอดเงินจำนวนดังกล่าวจะนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนอีกด้วย”.
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่