นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เปิดเผยถึงแนวทางแก้หนี้ ด้วยการซื้อหนี้มาบริหารว่า รัฐบาลอยู่ระหว่างหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงิน โดยจะเข้าไปช่วยกลุ่มที่เป็นหนี้เสียมีมูลหนี้ต่ำกว่า 100,000 บาท ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วน 35% ของหนี้เสียทั้งระบบ 1.22 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่า 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมเข้าร่วมโครงการคุณสู้ เราช่วย หรือเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถติดต่อได้ ธนาคารโทร.ไปก็ไม่รับสาย มีสัดส่วนราว 35% ของกลุ่มหนี้เสีย โดยทั้งหมดเป็นหนี้เสียที่ไม่มีหลักประกัน ที่เกิดจากการบริโภค สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งสถาบันการเงินตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญแล้ว 100%
สำหรับแนวทางการแก้ไขจะจัดตั้งเป็น หน่วยงานบริหารหนี้ หรือเอเอ็มซีแห่งชาติหรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังอยู่ระหว่างการหารือระหว่างสถาบันการเงิน เจ้าหนี้ คนที่จะมาจัดการ และภาครัฐ ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกัน เพื่อหาแนวทางผ่อนปรนให้ลูกหนี้กลับมาผ่อนชำระได้ รวมถึงเรื่องการล้างประวัติหนี้เสีย คาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้
“สัดส่วนหนี้ครัวเรือนมีทั้งหมด 13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9 ล้านบัญชี จำนวน 5 ล้านราย โดยเมื่อเข้าไปดูรายละเอียดพบว่า คนที่เป็นหนี้ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 100,000 บาท สูงถึง 35% หากดูแลหนี้จำนวนน้อยเหล่านี้ได้ สัดส่วนหนี้ครัวเรือนจะลดลงทันที แต่การแก้ไขหนี้ทั้งประเทศ ยอมรับว่าจะไม่แล้วเสร็จภายใน 3-6 เดือน โดยผู้ที่จะร่วมแก้ไขปัญหานี้ คือ เจ้าของหนี้ คนที่จะมาจัดการ และรัฐบาลจะอุดหนุนอย่างไร ก็กำลังหาแนวทางด้วยกัน แต่ขอดูข้อมูลก่อน ส่วนให้แบงก์ออมสินที่มีเอเอ็มซี เข้ามาช่วยหรือไม่นั้น ก็ขอดู เพราะออมสินเองก็มีกำลังจำกัด”
นายพิชัยกล่าวว่า มาตรการดังกล่าว ถือเป็นมาตรการแก้ไขหนี้ในเฟสที่ 2 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินโครงการคุณสู้ เราช่วย ซึ่งเราคาดหวังว่า การเจรจาแก้ไขหนี้จะจบได้ 50% ซึ่งเป็นหนี้ที่มีหลักประกัน ส่วนที่ไม่มีหลักประกันนั้น รัฐบาลก็จะเข้าไปแก้ไขในเฟสต่อไป ซึ่งมาตรการก็จะเข้มข้นกว่าเดิม
นายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากทิศทางของภาคอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันชะลอตัวต่อเนื่องและยังไม่มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้รับจากการหารือกับทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องและสถาบันการเงิน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) จึงเห็นควรให้ผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (เกณฑ์ LTV) จะช่วยประคับประคองภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง บรรเทาปัญหาที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จแล้วที่คงค้างอยู่ในระดับสูงได้บ้าง จึงอาจช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมได้จำกัด ขณะที่การผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ไม่ได้เพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินมากนัก เนื่องจากในปัจจุบันภาวะการเงินตึงตัวและสถาบันการเงินระมัดระวังในการให้สินเชื่อ
โดยสาระสำคัญของการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราวครั้งนี้ ประกอบด้วย 1.กำหนดให้เพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกันเป็น 100% หรือให้สินเชื่อได้ 100% ของมูลค่าหลักประกัน สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ทั้งกรณี 1.มูลค่าหลักประกันต่ำกว่า 10 ล้านบาท ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 2 เป็นต้นไป 2.มูลค่าหลักประกันตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป ตั้งแต่สัญญากู้หลังที่ 1 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม สาระข้อ 2.การผ่อนคลายนี้ให้เป็นการชั่วคราว สำหรับสัญญาเงินกู้ที่ทำสัญญาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2568 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.2569.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่