นายณัฐ วงศ์พานิช ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมมีข้อเสนอเร่งด่วน เสนอขอให้รัฐบาลเร่งดำเนินมาตรการ 3 แนวทางหลัก ประกอบด้วย 1.การคุมเข้มคุณภาพสินค้านำเข้า ปกป้องผู้บริโภคไทย 2.ปรับโครงสร้างภาษีให้เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน และ 3.แก้ปัญหานอมินี ปิดช่องโหว่ธุรกิจต่างชาติ เนื่องจากที่ผ่านมา สินค้าต่างชาติเข้าตีตลาดไทยอย่างรวดเร็ว และอาศัยช่องโหว่ทางกฎหมาย ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายย่อยและธุรกิจท้องถิ่น ได้รับผลกระทบหนักจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม
ปัญหาหลักมาจากสินค้านำเข้าราคาต่ำที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ทำให้ธุรกิจไทยแข่งขันลำบาก การใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย เปิดทางให้ใช้ "นอมินี" ดำเนินธุรกิจสีเทา การทำตลาดแบบ B2C ของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามชาติ ซึ่งกฎหมายไทยยังควบคุมได้ไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยเสียส่วนแบ่งตลาดและหลายธุรกิจปิดตัวลง
“ผลกระทบไม่ได้จำกัดเพียงผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่มีกว่า 3.3 ล้านราย โดยเป็น ภาคค้าปลีกและบริการถึง 2.8 ล้านรายหรือเกือบ 90% แต่ยังทำให้ผู้บริโภคไทยก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน เนื่องจากสินค้านำเข้าหลายรายการไม่มีมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้าเครื่องสำอาง และสินค้าไม่ได้มาตรฐานคุณภาพ หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทย ซึ่งไม่เพียงแต่สร้างความเสียหายให้ธุรกิจไทย แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยของผู้บริโภค หากปล่อยให้สถานการณ์นี้ดำเนินต่อไป ไม่เพียงแต่ธุรกิจค้าปลีกไทยจะถูกบีบให้ลดขนาดหรือปิดตัวลง แต่ยังอาจกระทบเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ”
นายณัฐ กล่าวต่อว่า ภาครัฐควรปรับปรุงกฏระเบียบให้เป็นปัจจุบันและเพิ่มความเข้มงวดการตรวจสอบสินค้าตั้งแต่ต้นทาง เช่น กรมศุลกากรเปลี่ยนจากระบบสุ่มตรวจเป็นการตรวจสอบ 100% เพิ่มการใช้เทคโนโลยเพื่อช่วยตรวจสอบให้แม่นยำ รวมถึง ปิดช่องโหว่ทางกฎหมายเกี่ยวกับการทุ่มตลาด เช่น ควบคุมราคาขั้นต่ำสำหรับสินค้านำเข้าที่ต้องแสดงต้นทุนที่แท้จริง เพื่อป้องกันการขายตัดราคา ขณะที่การจัดเก็บภาษีแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอย่างเท่าเทียม เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ประกอบการและผลประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติในระยะยาว