นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เปิดเผยถึงภารกิจแรกในการเข้ารับตำแหน่ง รมว.คลัง ว่า ขณะนี้เศรษฐกิจไทยมีปัญหามานับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดต่ำลงมาตลอดจาก 5% เหลือเพียง 2% โดยทุก 5 ปี จีดีพีจะลดลง 1% เป็นขั้นบันได สะท้อนปัญหาโดยเฉพาะในด้านส่งออกที่ไทยไม่สามารถปรับตัวให้ทัน ยังเป็นการผลิตสินค้ารูปแบบเก่าอยู่ เราต้องเร่งลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ New S-Curve ตลอดจนการส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ชาวต่างชาติเข้ามาพักในไทยนานขึ้น
ส่วนที่มองว่าจีดีพีปีนี้ 2.4% ต่ำไปหรือไม่ นายพิชัยกล่าวว่า รัฐบาลพยายามทำให้ดีที่สุด แต่เศรษฐกิจในปีนี้ก็ต้องมาจากพื้นฐานก่อนหน้าที่ดีด้วย โดยภารกิจแรกๆที่กระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการ คือ การเพิ่มรายได้ให้ประชาชนด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น เพราะวันนี้คนมีรายได้น้อยลง จีดีพีต่ำลง เงินเฟ้อก็ต่ำ ที่เห็นได้ชัดๆ คือ สินค้าราคาแพงขึ้น ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงเกินกว่า 90% ของจีดีพี ขณะที่เงินออมมีน้อยมาก เพราะไม่มีเงิน มีแต่หนี้ ฉะนั้นจะต้องมีการกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่กันกับการแก้ปัญหาหนี้
“ปัญหาข้าวของแพงไม่ใช่ไทยเผชิญแค่ประเทศเดียวเหมือนกันทั้งโลก แต่ปัญหาอยู่ที่คนไทยมีรายได้เติบโตไม่ทัน อย่างสมัยก่อนกินก๋วยเตี๋ยวชามละ 5 สตางค์ แต่มาขณะนี้ไม่มีแล้ว เมื่อราคาสินค้าแพงขึ้น รายได้เท่าเดิม รัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะต่อไปแน่นอน ผมเพิ่งมาทำงานวันแรก ขอเวลาทำงาน เพราะแต่ละเรื่องต้องใช้เวลา ไม่เห็นผลใน 6 เดือน หรือ 1 ปี แต่ต้องทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เติมเม็ดเงิน สร้างโอกาสใหม่ในระบบเศรษฐกิจ”
นายพิชัย กล่าวต่อว่า สำหรับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายที่ต้องดำเนินการ อย่ามองว่าเป็นการดูแลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจ ทุกกลุ่มมีความเชื่อมโยงกันหมดทั้งรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ รวมถึงภาคแรงงาน เมื่อมีการเติมเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ จะเป็นการสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ จะช่วยให้จีดีพีเติบโต ส่วนเรื่องตลาดทุนนั้น ตนเคยนั่งเป็นประธานตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 2 เดือน 18 วัน ซึ่งพยายามแก้ปัญหาภายใน สร้างความเชื่อมั่น ซึ่งการเติบโตของตลาดทุนจะเติบโตไปพร้อมกับตลาดเงิน เมื่อภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น จะทำให้มีหุ้นใหม่เข้าไปตลาดมากขึ้น
ด้านนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ได้กล่าวถึงกระแสการแก้ไข พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ว่า รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ รวมทั้งแนวคิดที่จะแก้ไขกฎหมายให้มีการนำเอาหนี้สินที่เงินกองทุนฟื้นฟูเพื่อการสถาบันการเงิน (FIDF) กู้มาในช่วงวิกฤติปี 2540 กลับไปอยู่ในบัญชีของ ธปท.นั้นรัฐบาลก็ยังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้เช่นกัน ส่วนในอนาคตมีแนวคิดดำเนินการเรื่องดังกล่าวหรือไม่ เรื่องนี้อาจจะต้องมีการหารือกันอีกทีถึงสถานการณ์ในอนาคต แต่ตอนนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวคิดเรื่องนี้ ส่วนการกำหนดเป้าหมายเงินเฟ้อปีนี้ไว้ที่ 1-3% ต่อปีจะต้องมีการทบทวนหรือไม่ ในส่วนนี้ก็ต้องหารือร่วมกับ ธปท. แต่มองว่ากรอบเงินเฟ้อที่ 1-3% ไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่เงินเฟ้อหลุดกรอบ ไม่อยู่ในเป้าหมายเป็นระยะเวลานานอาจจะกระทบกับเศรษฐกิจได้ในระยะยาว ก็ต้องมาคุยกันว่าทำอย่างไรให้เงินเฟ้อกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายได้
สำหรับเรื่องของการแบ่งงานในกระทรวงการคลัง นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้พูดคุยกับนายพิชัย เรื่องการแบ่งงาน โดยเฉพาะการดูแลโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านระบบดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งจะชัดเจนภายในเร็วๆนี้ว่าใครจะดูแลงานในด้านไหน แต่ทั้งนี้ ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน และต้องดูความเชี่ยวชาญของรัฐมนตรีช่วยฯแต่ละคน ซึ่งมีความสามารถและความเหมาะสมที่แตกต่างกัน
ด้านนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลังและประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เปิดเผยว่า ภายในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งเป็นการติดตามความคืบหน้าตามปกติที่จะมีการประชุมทุกสัปดาห์เพื่อให้ได้ข้อสรุปของรายละเอียดที่ยังไม่มีความชัดเจน อาทิ รายละเอียดของร้านค้าขนาดเล็กที่จะเข้าร่วมโครงการ เป็นต้น ทั้งนี้ คาดว่าละเอียดทั้งหมดจะยังไม่ได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 2 ของปีนี้ แต่ยืนยันว่าจะแล้วเสร็จก่อนประชาชนลงทะเบียนเพื่อยืนยันสิทธิแน่นอน.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่