หลังจากที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.กระทรวงการคลัง เปิดเผยข่าวดีต้อนรับปีมังกรว่า รัฐบาลได้บรรลุข้อตกลงยกเว้นวีซ่าถาวร ระหว่างไทยและจีน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และเป็นการยกระดับพาสปอร์ตไทย ให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
ซึ่งนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายก รัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ จะเดินทางไปเซ็น MOU ที่ประเทศจีนภายในเดือน ม.ค.หรือต้นเดือน ก.พ.2567 นี้ และจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. เป็นต้นไป
ซึ่งประเด็น “การฟรีวีซ่า ไทย-จีน” ได้รับความสนใจจากคนไทยและคนจีนจำนวนมาก มีทั้งคนที่เห็นด้วย และดีใจที่จะสามารถเดินทางระหว่างประเทศ ได้สะดวกยิ่งขึ้น แต่ก็มีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่กังวลว่าการยกเว้นวีซ่าถาวรครั้งนี้ จะทำให้ประเทศไทยได้ไม่คุ้มเสีย
Thairath Money จึงได้สอบถามความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านการค้าและความสัมพันธ์ ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ถึงเบื้องหลังเหตุผลในการบรรลุข้อตกลง ฟรีวีซ่าระหว่างไทยและจีน
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ให้ความเห็นว่า การยกเลิกวีซ่าถาวรระหว่างกันนั้น ในแง่ของการท่องเที่ยว ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ส่วนในระยะกลางและระยะยาว จะมีประโยชน์ในเรื่องของขยายความร่วมด้านการค้า การลงทุน การศึกษา การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-จีน ให้แน่นแฟ้นมากขึ้นในหลายมิติ จึงไม่สามารถประเมินความได้หรือเสียประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้
การที่คนไทยและคนจีน สามารถเดินทางไปมาระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น ค่าใช้จ่ายถูกลง นำไปสู่การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม สร้างความคุ้นเคยระหว่างกัน เป็นประโยชน์ให้ผู้ประกอบการไทยเห็นลู่ทางทำธุรกิจ ผ่านการเรียนรู้โมเดลธุรกิจในจีน แล้วนำมาต่อยอดให้กับธุรกิจในประเทศ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของธุรกิจไทยให้ดีขึ้น ประกอบกับการมีคอนเนคชั่นกับคนจีน จะช่วยเพิ่มความร่วมมือทางธุรกิจ การลงทุน ระหว่างกันได้
นอกจากนี้เมื่อคนไทยไปเรียนที่จีนเพิ่มขึ้น ผลประโยชน์ส่วนหนึ่งที่คนไทยจะได้โดยไม่รู้ตัว คือสามารถเข้าใจภาษาและวัฒนธรรม รวมถึงมีเครือข่ายสังคมกับคนจีน เนื่องจากจีนเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลก ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง การที่เราเข้าใจจีนมากขึ้น จะทำให้เราสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้ในระยะยาว
การที่จีนประกาศให้ฟรีวีซ่าชั่วคราว 5 ประเทศในยุโรป ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ สเปน ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศเศรษฐกิจหลัก จีนไม่ได้มองผลประโยชน์ ในแง่ของมิติเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่มีมิติการเมืองระหว่างประเทศซ่อนอยู่ เพราะจีนต้องการคานอำนาจกับสหรัฐฯ ในเวทีโลก
โดยดึงบางประเทศในยุโรปมาเป็นพวก หลังสหรัฐฯ ขอความร่วมมือยุโรป ในการกีดกันทางการค้า และเทคโนโลยีกับจีน ดังนั้นการฟรีวีซ่าจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ ทางการเมืองกับกลุ่มประเทศยุโรปมากขึ้น
ในมิติทางเศรษฐกิจ จีนต้องการค้าขาย และลงทุนจากยุโรปค่อนข้างเยอะ การฟรีวีซ่าจึงเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจเชิงลึก สำหรับมาเลเซียนั้น การให้ฟรีวีซ่าถือเป็นการตบรางวัล เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปี ความสัมพันธ์จีน-มาเลเซีย ซึ่งตรงกับปี 2567 ส่วนไทยจะครบรอบความสัมพันธ์ 50 ปีกับจีนในปี 2568 ซึ่งการเร่งเจรจาข้อตกลงดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ทำให้จีนอนุมัติฟรีวีซ่าให้กับคนไทยเร็วกว่าคาดการณ์
สำหรับสาเหตุที่คนจีนเที่ยวไทยน้อยลง ดร.ไพจิตร มองว่าเป็นผลกระทบจากความกังวล เรื่องความปลอดภัยระหว่างท่องเที่ยวในประเทศไทย และการบริการที่ไม่เป็นมือชีพ
มากกว่าปัญหาเศรษฐกิจในจีน เนื่องจาก คนจีนมีการบินไปท่องเที่ยวทางไกล อย่างประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า และยังหันมาการท่องเที่ยวในประเทศมากขึ้น แม้จะมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการท่องเที่ยวในประเทศไทย อีกทั้งหลังช่วงโควิด-19 คนจีนมีอัตราการออมที่เพิ่มสูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าคนจีนเงิน แต่ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
นอกจากนี้ความยุ่งยากของระบบยื่นวีซ่าออนไลน์ หรือ e-Visa ที่ไม่เสถียร และมีรายละเอียดการกรอกข้อมูลเยอะ ทำให้นักท่องเที่ยวจีนไม่ผ่านการ พิจารณาวีซ่าจำนวนมาก เนื่องจากส่วนใหญ่มาเที่ยวกันเป็นครอบครัว หากมีสมาชิกคนใดคนหนึ่งไม่ผ่านการพิจารณา ก็จะต้องยกเลิกการเดินทางทั้งครอบครัว รวมถึงการทุจริตของเจ้าหน้าที่ในการทำ Visa on Arrival ที่เสนอให้คนจีนจ่ายเงินใต้โต๊ะ เพื่อลัดคิวการดำเนินการที่ต้องรอนานหลายชั่วโมง
ทั้งหมดล้วนเป็นสาเหตุที่ทำให้คนจีนเบื่อหน่ายการท่องเที่ยวในประเทศไทย หรือมาแค่ครั้งเดียวแล้วไม่กลับมาเที่ยวซ้ำเหมือนในอดีต ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าไทย ตีโจทย์นักท่องเที่ยวจีนไม่แตก ไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้วยจุดขายความเป็นมิตร และคุณภาพบริการที่ดีเหมือนในอดีตได้
ดังนั้นไทยจึงต้องกลับมาทบทวนตัวเอง และเร่งแก้ไขปัญหาในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย หากเรามองแต่ปัญหาภายนอก การฟรีวีซ่า ไทย-จีน ครั้งนี้ก็จะไม่เกิดประโยชน์ หรือนำไปสู่การขยายความร่วมมืออื่นๆ ในอนาคต
อย่างไรก็ตามในภาพรวมประเทศไทยยังเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวยอดนิยมของจีน หากเราสามารถปรับปรุงคุณภาพการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความต้องการนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น คาดว่าจะช่วยเร่งให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนกลับมาสูงที่ระดับเป้าหมาย 40 ล้านคนช่วงก่อนโควิด-19 ได้