น.ส.แพทองธารได้ตอบคำถามคาใจว่าประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรี 2 คนหรือไม่ว่า ไม่ได้คิดเรื่องการเป็นนายกรัฐมนตรีเลย และการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจบไปแล้ว การมาช่วยงานของรัฐบาลนี้เข้ามาทำใน 2 เรื่องคือ ซอฟต์พาวเวอร์ กับบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทั่วไทย ต่อยอดและยกระดับจากโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค และการมาเป็นหัวหน้าพรรค เป้าหมายคือเนื้องาน ไม่ใช่วางแผนจะเป็นนายกฯ อนาคตไม่ทราบจริงๆ จะได้รับเกียรติจากพี่น้องประชาชนหรือเปล่า ตอนนี้ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
“เรื่องซอฟต์พาวเวอร์ อิ๊งกระโดดเข้าหาเลยเพราะเชื่อในพลังของซอฟต์พาวเวอร์ ถ้าสำเร็จตามกระบวนการจะเกิดมูลค่ามากมาย จึงมั่นใจที่จะผลักดันให้เกิดขึ้น ส่วน 30 บาทรักษาทุกโรคได้เปลี่ยนชีวิตคน ช่วยคนได้เยอะ ถ้ายกระดับจะต้องดีแน่”
ทั้งนี้ เพื่อให้การผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ มีความต่อเนื่องไม่ถูกทิ้งเหมือนตอนรัฐบาลทักษิณ ทำเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ตอนนั้นใช้วิธีตราพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งองค์กรมหาชนซึ่งถูบยุบได้ ถูกตัดงบได้ จึงเอาบทเรียนมาแก้ไขตอนนี้จึงจะมีการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เพื่อจัดตั้งองค์กรชื่อ Thailand Creative Content Agency (THACCA) ขึ้นมาเป็นหน่วยงานสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีนายกรัฐมนตรีดูแลโดยตรง เหมือนกับสำนักงานส่งเสริมการลงทุน โดยจะได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ปีละ 10,000 ล้านบาท เท่ากับ Korea Creative Content Agency (KOCCA) ของเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ในระหว่างนี้จะทำงานภายใต้การบูรณาการงบประมาณของกระทรวงต่างๆ ซึ่งจะนำงบมาใช้ส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ได้ปีละ 7,000 ล้านบาท
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า เนื้องานเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มีทั้งหมด 11 อุตสาหกรรม ได้แก่ 1.ครัวไทยสู่ครัวโลก 2.ดันมวยไทยไปไกลระดับโลก 3.The World’s Festival Country 4.การท่องเที่ยวคุณภาพสูงอย่างยั่งยืน 5.คนคุณภาพ ดนตรีคุณภาพ ผลงานที่ทั่วโลกยอมรับ 6.หนังสือสร้างคนสร้างชาติ 7.ผลักดันภาพยนตร์และซีรีส์ไทยสู่ตลาดโลก 8.ศูนย์กลางอุตสาหกรรมเกมในภูมิภาค 9.Asean Art Capital 10.Thailand as Brand 11.ยกระดับแฟชั่นสู่ไลฟ์สไตล์ใหม่ที่เน้นคุณค่า คุณภาพ และความคิดสร้างสรรค์ และแบ่งคณะอนุกรรมการเป็น 12 คณะ เนื่องจากสาขาภาพยนตร์ได้แยกออกจากสาขาซีรีส์ เพราะการทำงานแตกต่างกัน อุตสาหกรรมต่างๆที่มารวมกัน 12 คณะ คุยตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง มีภาพออกมาเรื่อยๆ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาหาร ท่องเที่ยว โรงแรม ภาพยนตร์ มาคุยปัญหาว่าเจออะไรมาบ้าง ส่วนใหญ่เป็นปัญหากฎหมายที่ไม่ได้ปรับมากว่า 30 ปีแล้ว จึงมีการตั้งคอนเซปต์ที่จะทำ THACCA และ มีการตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ ต้องมีการออก พ.ร.บ.ขึ้นมา การทำงานทั้งหมดเอาเอกชนมาช่วย ภายใน 6 เดือนจะร่างกฎหมายเสร็จและเสนอเข้าที่ประชุม ครม.ก่อนเข้าสู่สภา คาดว่าภายใน 1 ปีหรือประมาณเดือน ต.ค.2567 กฎหมายจะเสร็จ
“ต้องบอกก่อนว่าซอฟต์พาวเวอร์เองไม่ใช่โปรดักส์ แต่รัฐบาลพยายามจะเอาโปรดักส์ของประเทศไทยที่มีอยู่แล้วมาสร้างซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ว่าจะเป็นผ้าไทย ผ้าย้อมคราม มวยไทย มาทำให้เกิดซอฟต์พาวเวอร์ ตอนนี้เจ้าภาพหลักคือภาคเอกชน ไม่ใช่รัฐบาล รัฐบาลจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก ส่วนเอกชนจะเป็นคนที่ผลักดัน เราขอให้เอกชนเข้ามาให้ข้อมูลทุกอย่าง ไม่ว่าปัญหาที่เขาเจอกันอยู่ ยกตัวอย่างเช่น ภาพยนตร์ เจอในเรื่องของกฎหมายที่บล็อกศักยภาพ ความคิดต่างๆ มีเซ็นเซอร์โน่นนี่ มีกฎเยอะมาก และมีมาเป็น 30 ปีแล้ว หรือตั้งแต่ก่อนที่มีเทคโนโลยีต่างๆเข้ามามากมาย ซึ่งก็ต้องปรับกัน แล้วเราก็มาช่วยดูว่าตรงไหนจะปรับแก้กันได้บ้าง ตรงไหนที่แก้ตรงกฎกระทรวงได้ก็แก้เลย”
ที่สำคัญคือ ต้องการยกระดับทั้งองคาพยพของซอฟต์พาวเวอร์ทั้งหมด ถึงต้องมีหน่วยงานหลายหน่วยงานเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ และหลายกระทรวงที่ต้องเข้ามาช่วยกัน
น.ส.แพทองธารกล่าวว่า ได้ตั้งเป้าการทำงานไว้อย่างดีมาก คือ ผลสำเร็จที่เรามองว่าสำเร็จแน่และสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ คือสิ่งที่ตั้งใจไว้มากๆเราวางไว้ตั้งแต่ 100 วัน 6 เดือน 1 ปี โดย 100 วันแรกสิ่งที่จะ Kick off ได้ต้องเริ่มแล้ว ตอนนี้ทำ OFOS หรือ One Family One Soft Power หรือหนึ่งครอบครัว หนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ เอาคนหนึ่งคนต่อหนึ่งครอบครัวมาเพิ่มทักษะ ซึ่งนโยบายตั้งใจว่าให้แต่ละครอบครัวส่งตัวแทนมาหนึ่งคน เพื่อมาเพิ่มทักษะในสิ่งที่ตัวเองถนัดและมีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ดนตรี กีฬา เกม เฟสติวัล อะไรก็ได้ ตอนนี้เริ่มเปิดให้ลงทะเบียนได้ที่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ
“การที่ให้หนึ่งคนจากหนึ่งครอบครัวมาเพิ่มทักษะอาชีพ เพราะตอนนี้เส้นความยากจนอยู่ที่ 2,800 บาทต่อคนต่อเดือน จากสถิติ 4 คนต่อหนึ่งครอบครัว เท่ากับมีรายได้ครอบครัวละ 11,200 บาทต่อเดือน แต่คนที่เข้าร่วมโครงการนี้ เราจะทำให้เขามีรายได้ 16,000 บาทต่อเดือน ซึ่งปีหนึ่งก็เกือบ 200,000 บาท ภายใน 4 ปี คือ 1 คนจะสามารถพาทั้งครอบครัวพ้นเส้นความยากจนได้เลย ตรงนี้คือการพัฒนา OFOS คือตัวบุคคล”
สำหรับ THACCA หรือ ทักก้า ซึ่งจะเป็นหน่วยงานที่พัฒนาอุตสาหกรรม วางเป้าหมายสร้างรายได้ไว้ 10 ล้านล้านบาทภายใน 4 ปี ของ 11 อุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ ซึ่งตรงนี้ถ้าถามว่าฐานรายได้เดิมอยู่ที่เท่าไหร่ ต้องบอกว่าประเทศไทยไม่มีข้อมูลตรงนี้ ต่างจาก KOCCA ของเกาหลีใต้ มีฐานข้อมูลว่า ภาพยนตร์และซีรีส์มีมูลค่าน้อยกว่าอุตสาหกรรมหนังสือของเกาหลีใต้
“พอได้ข้อมูลนี้งงเลย เพราะเกมและหนังสือมีมูลค่ามากกว่า ปีนี้เราเลยจะรณรงค์แจกหนังสือในช่วงปีใหม่เป็นของขวัญ ที่อยากส่งเสริมตอนนี้คือหนังสือแปล แต่ที่อยากผลักดันมากกว่าคือให้หนังสือไทยถูกนำออกไปแปลในแต่ละประเทศด้วย ที่เป็นควิกวินของอุตสาหกรรมหนังสือ คือ งานเทศกาลหนังสือที่กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน วงการหนังสืออยากออกไปมาก แต่ไม่มีเงินสนับสนุน แต่ตอนนี้กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศจัดงบประมาณให้และจะไปคุยให้มีคนรับไปแปลเป็นภาษาต่างประเทศ ถ้าใครแปลเราก็จะให้้เงินสนับสนุนในการแปลด้วย เห็นได้จากหนังสือดังๆในประเทศไทยเป็นหนังสือแปลจากญี่ปุ่น เพราะคนญี่ปุ่นไม่เขียนภาษาอังกฤษ สำหรับประเทศไทยเรามีแค่ฐานข้อมูลของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ 3 ล้านล้านบาท ในปี 2562”
ด้าน นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า การพัฒนาคนภายใต้โครงการ OFOS ให้มีรายได้ 200,000 บาท ภายใน 4 ปี จะสามารถทำให้คน 20 ล้านคนจาก 20 ล้านครอบครัว สร้างรายได้รวมกันได้ถึง 4 ล้านล้านบาท ส่วนอุตสาหกรรมทั้งระบบที่มีทั้งเรื่องท่องเที่ยว เรื่องอาหารที่จะออกไปสู่อุตสาหกรรมโลก เช่น ครัวไทยสู่ครัวโลกที่วันนี้มีร้านอาหารไทย ที่เราเคยเริ่มต้น 20,000 ร้าน คิดว่าจะไปให้ถึง 100,000 ร้าน ภายใน 4 ปีให้ได้ ซึ่งตรงนี้จะควบคู่กับการอบรมเชฟ ซึ่งเชฟชุมพล แจ้งไพร ที่มาร่วมทำงานด้วยตั้งเป้าเอาไว้เลยว่าในช่วงแรกจะให้หนึ่งหมู่บ้านต่อหนึ่งเชฟอาหารไทยที่ทำอาหารเป็นรสชาติไทยแท้ รวม 70,000 หมู่บ้านคือ 70,000 คน และจะให้ถึง 100,000 คนภายใน 2 ปี เพราะร้านอาหารไทยตอนนี้อาจจะมีปัญหาที่ไม่ใช่รสชาติไทยแท้
“ถามว่าครั้งนี้จะแตกต่างอย่างไรจากที่เราเคยทำเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในยุครัฐบาลทักษิณ ที่ทำเรื่องศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบหรือ TCDC ครัวไทยสู่ครัวโลก กรุงเทพเมืองแฟชั่น ซึ่งหลายเรื่องถดถอยไปแล้ว เช่น ที่เราเคยเริ่มครัวไทยสู่ครัวโลก ตอนหลังอาจไม่ได้รับความสำคัญ ส่วนกรุงเทพเมืองแฟชั่นก็หายไปเลยขาดช่วงไปเกือบ 20 ปี สิ่งที่ทำครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อนที่เคยทำ ในตอนนั้นใช้คำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพราะคำว่าซอฟต์ พาวเวอร์เพิ่งจะมาดังจริงๆไม่กี่ปีมานี้เอง”
ขณะเดียวกันได้มองจุดอ่อนของเราในรัฐบาลทักษิณที่เน้นพัฒนาอุตสาหกรรมแต่ไม่ได้เน้นพัฒนาคน และนโยบายต่างประเทศเชิงรุกเราทำเฉพาะครัวไทยสู่ครัวโลก เมืองแฟชั่นและโอทอป ซึ่งตอนนั้นเคยอยากจะไปตั้งศูนย์โอทอปในชองเซลิเซ่ หรือฟิฟท์ อเวนิว ด้วยซ้ำ แต่ก็หยุดไป ฉะนั้นในครั้งนี้จึงเน้นการพัฒนาคนและเน้นนโยบายต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญ”
ในช่วงท้าย น.ส.แพทองธารได้ตอบคำถามว่า ใน 11 สาขามุ่งหวังในสาขาไหนมากที่สุด ได้รับคำตอบว่าอาหารไทยเป็นอันดับแรกเพราะทั่วโลกรู้จักกันดีอยู่แล้ว เพียงแต่เราทำให้เปลี่ยนรสชาติไทยแท้ๆ มากขึ้น อันดับที่สองคือมวยไทย ตามมาด้วยท่องเที่ยว ภาพยนตร์และเฟสติวัล โดยควิกวิน 100 วัน ได้จัด Winter Festival แถลงข่าวไปแล้ว จัดงานรวมกันถึง 3,000 งาน ยอมรับว่ามีงานอยู่แล้ว แต่เรามารวบรวมประชาสัมพันธ์ให้เป็นหนึ่งเดียว และควิกวินต่อมา 6 เดือน คือ Summer Festival จากเดิมเราจัดเทศกาลสงกรานต์ 3-4 วัน หรืออย่างมากก็ 5 วัน ตรงนี้จะผลักดันให้เกิดขึ้นทั้งเดือน เม.ย. เราอยากให้เป็นจุดหมายปลายทางของคนต่างชาติ เลยให้ทราบว่าตลอดทั้งเดือน เม.ย.เป็นเทศกาลสงกรานต์ หรือ Water Festival ตลอดทั้งเดือน
นพ.สุรพงษ์กล่าวว่ายูเนสโกกำลังจะประกาศให้เทศกาลสงกรานต์ของไทยเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ ตรงนี้จึงเป็นโอกาสดีที่เดือน เม.ย.2567 ไทยจะประกาศเป็น Water festival ของโลก ที่ผ่านมาเติบโตกันไปเอง แต่ครั้งนี้เราจะจัดทั้งเดือน เราเรียนรู้จากมีมหกรรมหนึ่งของเมืองเอดินเบอระของสกอตแลนด์ มีการจัดเทศกาลศิลปวัฒนธรรม ตลอดทั้งเดือน ส.ค. มีนักท่องเที่ยวไปทุกปี ปีละ 4 ล้านกว่าคน เป็นงานที่มีคนไปร่วมมากที่สุดรองจากโอลิมปิกและฟุตบอลโลก แล้วเขามีขายตั๋วด้วย ซึ่งภายในงานจะมีกิจกรรมทุกเรื่อง ทั้งศิลปะ คอนเสิร์ต ภาพยนตร์ ดนตรี ไปช่วงไหนก็ตามในเดือน ส.ค.ก็จะมีงานตลอด ซึ่งเค้าจัดมา 70-80 ปีแล้ว ตอนนี้เรามีเวลาเตรียมตัว 4-5 เดือนที่จะทำเดือน เม.ย.2567 ให้เป็นแบบนั้นให้ได้.
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ทั้งหมดที่นี่