ข้อมูลสถิติ ที่ถูกเปิดเผย ออกมา โดย บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร หวั่น ตัวแปรที่อาจทำให้ “เศรษฐกิจไทยพัง” นอกเหนือปัจจัยภายนอก ที่ควบคุมไม่ได้แล้ว ก็คือ ภาวะ “หนี้เสีย” หรือ NPA ทะลัก และการเลี้ยงงวดของคนไทย หรือการค้างชำระหนี้ 1-3 งวด แต่ยังไม่เป็นหนี้เสีย ซึ่งกำลังมีสัดส่วนเติบโตพุ่งอย่างมีนัย มาตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 โดยขณะนี้ มีตัวเลขรวมกัน อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท หรือ มากถึง 7.3% ของยอดหนี้ทั้งหมด
พิษภัยต่อ ทิศทางเศรษฐกิจไทย ที่อยู่ระหว่างการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงต้องพึงระวังมากขึ้น ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการ โครงการ TDRI Economic Intelligence Service (EIS) ประเมินว่า แม้จากหลายปัจจัย ทำให้เชื่อมั่นว่าสภาวะเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง น่าจะดีกว่าครึ่งปีแรก
แต่ยังมีแรงกดดันเงินเฟ้อจากอีกหลายปัจจัย เช่น ต้นทุนของผู้ผลิตที่ถูกส่งต่อไปยังผู้บริโภคจากการฟื้นตัวด้านอุปสงค์ ค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น และความเป็นไปได้ ของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แม้คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย จะขยับขึ้นไปหยุดอยู่ที่ 2.25%-2.5% ในสิ้นปี 2566
ภายใต้คาดการณ์ GDP ไทยในปีนี้ จะขยายตัวได้ที่ 3.5% จาก 2.6% ในปี 2565 เพราะทิศทางภาคท่องเที่ยว และการส่งออก ในช่วงครึ่งปีหลัง น่าจะขยับดีจากช่วงครึ่งปีแรกเป็นแน่ ยกเว้นจีนไม่ได้ฟื้นตัวแข็งแกร่ง และเศรษฐกิจสหรัฐฯ, ยุโรป มีปัญหามากกว่าเศรษฐกิจถดถอย ไทยเสี่ยงมากขึ้น จากตลาดส่งออกหลักหดตัวรุนแรง
ส่วนการบริโภคภายในประเทศนั้น ดร.กิริฎา ระบุว่า เช่นเดียวกัน แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภค ณ เดือน พ.ค. มาอยู่ที่ ระดับ 56.6 ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 53 เดือน จากอัตราการว่างงานลดลง ไทยมีงานทำมากขึ้น และชั่วโมงการทำงานเพิ่ม ส่งผลมีรายได้ต่อการจับจ่ายใช้สอย
อย่างไรก็ตาม ปัญหา “หนี้ครัวเรือน” ที่ล่าสุดยังอยู่ในระดับสูง 86.9% ต่อ GDP ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เพราะนอกจาก 2 ใน 3 จะเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้กู้ซื้อรถ หนี้บัตรเครดิตแล้ว ตัวเลข SMLs หรือ ก้อนหนี้ที่มีการผิดชำระเกิน 1 เดือน มีจำนวนบัญชีเพิ่มขึ้นมาก เทียบกับช่วงก่อนโควิด เพิ่มขึ้นนับเท่าตัว อยู่ที่ 6% ของก้อนสินเชื่อทั้งหมด สะท้อนถึง ช่วงที่ผ่านมา สถานะทางการเงิน ลุ่มๆ ดอนๆ ส่งค่างวดไม่ทันกำหนด
“จริงอยู่ เรื่อง NPL อาจไม่ได้กระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้เท่าไร เพราะว่า ธปท.ยังมีมาตรการช่วยเหลือ ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังยืดหยุ่นลูกค้าได้จนถึงสิ้นปี ทำให้ก้อนหนี้บางส่วน ยังไม่ถูกนับเป็น NPL แต่ปีหน้า คงได้เห็นการเริ่มตามหนี้ และบางส่วนคงหลุดเป็น NPL มากขึ้น ”
นั่นเท่ากับ โอกาสการจับจ่ายในระบบของภาคประชาชน จะลดน้อยถอยลง เพราะลูกหนี้กลุ่มดังกล่าว จะหมดโอกาสในการ กู้หนี้ ยืมสินเชื่อใหม่ๆ อาจจะกระทบต่อภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจสินเชื่อ และทิศทางเศรษฐกิจ
ขณะพอร์ตสินเชื่อใหญ่ในระบบ อย่าง KTC นายชุติเดช ชยุติ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อาวุโส กลุ่มงานบริหารการเงิน บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC เผยว่า จากข้อมูลของเครดิตบูโร อาจยังต้องติดตามและประเมินผลกระทบต่อเนื่อง จากสถานะ หนี้ค้างชำระ ที่มีในระบบสินเชื่อมากขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำลังจะสิ้นสุดในปีนี้ ว่าก้อนหนี้ดังกล่าว จะไหลกลายเป็น NPL มากน้อยแค่ไหน
ทำให้ KTC ติดตามและประเมินตลาดสินเชื่อรวมอยู่เช่นกัน และจัดเตรียมมาตรการรองรับ เพื่อช่วยเหลือลูกค้า เช่น มาตรการปัจจุบัน ให้ลูกค้าเลือกผ่อนหนี้ในระยะยาวสูงสุด 48 เดือน เป็นต้น ขณะ หนี้เสียของ KTC ในปัจจุบันยังมีสัดส่วนอยู่ที่ 1.9% เท่านั้น ซึ่งค่อนข้างดีกว่าภาพรวมตลาด
ส่วนการชำระหนี้ของลูกค้า KTC ทั้งพอร์ต อยู่ในระดับค่อนข้างดี และ ดีกว่าช่วงโควิด-19 ซึ่งมาจากการคัดกรองพอร์ตลูกค้า และการติดตามหนี้ ลูกค้าที่มีวินัย พร้อมคาดว่า ช่วงเดือน มิ.ย. สถานการณ์การค้างชำระ จะเริ่มกลับมาคลี่คลายเป็นปกติมากขึ้น จากจุดบอดช่วงไตรมาส 2 ที่มีเทศกาลหยุดยาวหลายระลอก ทำให้ประชาชนมีความจำเป็นใช้เงินในการจับจ่ายใช้สอยจำนวนมาก มีผลต่อวินัยการชำระค่างวด
ทั้งนี้ ในไตรมาส 1/2566 พอร์ตสินเชื่อรวมของ KTC มีอัตราเติบโตจากช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ 14.5% โดยมีมูลค่าเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับรวมเท่ากับ 103,312 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มบริษัทยังคงบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้อย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 2.6% มั่นใจว่าจะสามารถคงคุณภาพพอร์ตรวมได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ พร้อมประมาณการกำไรของปี 2566 ที่สูงกว่าเดิม
อีกทั้ง KTC ยังให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ในทุกสถานะเป็นจำนวน 1,995 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 2.0% ของพอร์ตลูกหนี้รวม (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566)
ปีนี้ KTC ตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจในปี 2566 ดังนี้ กำไรสูงกว่า 7,079 ล้านบาท พอร์ตสินเชื่อรวมเติบโต 15% เกินแสนล้านบาท ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต เติบโต 10% พอร์ตสินเชื่อบัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” เติบโต 7% ยอดอนุมัติสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เพิ่ม 9,000 ล้านบาท และ NPL น้อยกว่า 1.8% ซึ่งเป็นอัตรา NPL ในปีที่ผ่านมา