นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า สนค. ได้ศึกษาศักยภาพและโอกาสของเศรษฐกิจสุขภาพ (Wellness Economy) ของไทย พบว่า มีโอกาสเติบโตสูงมาก จากการที่ทั่วโลกใส่ใจสุขภาพและการดูแลตนเองมากขึ้น โดยสถาบันด้านสุขภาพสากล (The Global Wellness Institute-GWI) ประเมินว่า อุตสาหกรรมเกี่ยวกับสุขภาพของโลก ปี 66-68 มีโอกาสเติบโตเฉลี่ย 7.5% ต่อปี โดยปี 68 จะมีมูลค่ารวมสูงถึง 6.99 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และสัดส่วนมูลค่าตลาดเกือบ 70% จะอยู่ที่ 4 สาขา ได้แก่ การดูแลสุขภาพส่วนบุคคลและความงาม สัดส่วน 19.90%, โภชนาการและการลดน้ำหนัก สัดส่วน 17.04%, การออกกำลังกาย สัดส่วน 16.89% และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สัดส่วน 15.88%
“หากไทยส่งเสริมอุตสาหกรรมเวลเนสในสาขาที่มีแนวโน้มความต้องการสูง จะดึงดูดกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีการใช้จ่ายด้านนี้สูง และช่วยกระจายรายได้สู่การท่องเที่ยวเมืองรอง อีกทั้งยังชูอัตลักษณ์เชิงวัฒนธรรมประสานกับความโดดเด่นในพื้นที่ ควบคู่กับการตรวจสอบมาตรฐานการให้บริการ และการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ รวมถึงการสนับสนุนการจับคู่ทางธุรกิจให้แก่ผู้ประกอบการท้องถิ่นเพื่อดึงดูดการลงทุน จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรมเวลเนสของไทย และสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย”
สำหรับผลการศึกษา พบว่า สาขาที่ไทยมีศักยภาพ เพราะมีสัดส่วนในตลาดโลกสูง และตลาดโลกเติบโตสูง ได้แก่ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ไทยมีสัดส่วนในตลาดโลก 1.08% ตลาดโลกเติบโต 10.2% คาดมูลค่าตลาดโลกปี 68 อยู่ที่ 1.127 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ และจะขยายตัวสูงมากหลังเปิดการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบ จึงควรให้ความสำคัญ และกำหนดยุทธศาสตร์การขยายตลาด
ส่วนสาขาที่เป็นโอกาสพัฒนา โดยไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกต่ำ แต่ตลาดโลกเติบโตสูง คือ อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งแนวโน้มการเติบโตสูง จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่สาขาที่ตลาดมีขนาดเล็ก แต่ไทยมีความโดดเด่น คือ สปา ซึ่งสามารถพัฒนาอัตลักษณ์เป็นจุดขายที่เจาะกลุ่มเฉพาะด้านได้ สำหรับสาขาที่ต้องปรับปรุงพัฒนา เพราะไทยมีสัดส่วนในตลาดโลกต่ำ ได้แก่ โภชนาการและลดน้ำหนัก, การดูแลสุขภาพและความงาม รวมถึงยาแผนโบราณและอาหารเสริม และเวชศาสตร์เชิงป้องกัน ที่มีโอกาสพัฒนา.