นายกฯสั่งกลาง ครม.ให้ทุกหน่วยงานเตรียมงบประมาณรับมือ-ฟื้นฟูความเสียหายหลังน้ำท่วม 2565 ด้านพาณิชย์จัดประชุมผู้ประกอบการห้าง-ร้านสะดวกซื้อ ยืนยันเพิ่มสต๊อกสินค้ารับมือน้ำท่วม เน้นสินค้าจำเป็น ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป น้ำดื่ม พร้อมกระจายสินค้าไม่ให้ขาดแคลน มีมาตรการ พร้อมรับสถานการณ์ฉุกเฉิน ขอให้ประชาชนมั่นใจไม่ต้องกักตุน
นายเฉลิมพล เพ็ญสูตร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้มอบหมายในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ทุกหน่วยงานเตรียมการรองรับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน โดยในส่วนของสำนักงบประมาณ ได้เตรียมงบประมาณไว้รองรับสถานการณ์แล้ว แต่ขอให้สถานการณ์น้ำคลี่คลายลงก่อน และกระทรวงมหาดไทยลงไปสำรวจความเสียหายในพื้นที่ต่างๆ ก่อนสรุปรายละเอียดออกมา หลังจากนั้นค่อยมาพิจารณาว่าจะใช้งบปกติของหน่วยงาน หรืออาจเสนอของบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อดำเนินการ
“ตอนนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่สิ้นสุด เมื่อน้ำลดลงแล้วก็น่าจะได้ตัวเลขที่ชัดเจน หน่วยงานไหนต้องการเสนอใช้งบกลางเพื่อนำไปซ่อมแซมความเสียหาย ทั้งถนน และอาคาร ก็เสนอมาให้สำนักงบประมาณพิจารณาอีกครั้ง โดยในงบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2566 ได้จัดเตรียมงบประมาณรองรับสถานการณ์ภัยพิบัติเอาไว้ โดยบรรจุไว้ในวงเงินรายการค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินไว้ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท และยังมีวงเงินรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นที่สามารถนำมาใช้ได้อีก 92,400 ล้านบาท”
นายเฉลิมพลกล่าวอีกว่าสำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณ ปี 2566 ตั้งเป้าหมายการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งปีให้ได้ 100% โดยในไตรมาสแรก ตั้งเป้าหมายให้ทุกส่วนราชการเบิกจ่ายงบประมาณไม่ต่ำกว่า 25% และหากโครงการไหนที่มีความพร้อมก็ให้ดำเนินการในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างได้ทันที เพื่อให้มีเงินลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ ส่วนการเตรียมความพร้อมค่าใช้จ่ายสำหรับการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากงบก้อนใหญ่ตาม พ.ร.ก.กู้เงินโควิดฯ 500,000 ล้านบาทหมดลงแล้ว ภายใต้งบประมาณรายจ่ายฯ ปี 2566 ยังมีเงินกันไว้ในงบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบในวงเงิน 3,000 ล้านบาท
ด้านนายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า เพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศในขณะนี้ กรมได้ประชุมร่วมกับห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก-ค้าส่ง และร้านสะดวกซื้อ ได้แก่ บิ๊กซี, โลตัส, แม็คโคร, ฟู้ดแลนด์, ท็อปส์, เดอะมอลล์, เซเว่นอีเลฟเว่น, ลอว์สัน และแม็กซ์แวลู เพื่อติดตามสถานการณ์การจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในช่วงเกิดสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ซึ่งผู้ประกอบการทุกรายยืนยันว่า ได้จัดเตรียมสินค้าคงคลังไว้รองรับความต้องการของผู้บริโภคแล้ว สำหรับการขนส่งไปยังศูนย์กระจายสินค้าและสาขาของห้าง ยังคงดำเนินการได้ตามปกติ และมีแผนรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉินไว้แล้ว
“ได้กำชับให้ห้างเพิ่มปริมาณสต๊อกสินค้าให้เพียงพอต่อความต้องการ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภค บริโภคที่มีความจำเป็น เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารสำเร็จรูป และน้ำดื่ม อีกทั้งให้เพิ่มความถี่ในการเติมสินค้าบนชั้นวางอยู่เสมอ ปิดป้ายราคาให้ชัดเจน และให้ห้างบริหารจัดการการจัดส่งสินค้า หากศูนย์กระจายสินค้าได้รับผลกระทบ จากน้ำท่วม เช่น จัดหาศูนย์กระจายสินค้าสำรอง และเน้นการส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปยังสาขาต่างๆโดยตรง เพื่อป้องกันปัญหาด้านการขนส่ง โดยกรมพร้อมสนับสนุนในการประสานงานกับผู้ผลิต เพื่อจัดส่งสินค้าไปยังห้างเพิ่มเติมในกรณีที่จำเป็นด้วย ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าปริมาณสินค้ามีเพียงพออย่างแน่นอน ไม่จำเป็นต้องกักตุน”
พร้อมกันนั้น ได้สั่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์สินค้าอย่างต่อเนื่อง หากพบเห็นการกักตุนสินค้า หรือขายสินค้าโดยไม่เป็นธรรม แจ้งได้ที่สายด่วนกรม โทร.1569 หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ หากตรวจพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าในราคาแพงเกินสมควร หรือมีการกักตุน หรือปฏิเสธการจำหน่ายมีโทษสูงสุดจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ปิดป้ายแสดงราคา มีโทษสูงสุดปรับไม่เกิน 10,000 บาท
วันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติงบกลาง ปี 2566 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 422.75 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการ “พาณิชย์...ลดราคา! ออนทัวร์ ทั่วไทย” เพื่อเป็นการจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในราคาประหยัดแก่ประชาชนทุกจังหวัด เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ สินค้าเกษตร ผลไม้ โดยตั้งเป้าหมายการจัดงานไม่ต่ำกว่า 274 ครั้ง มีระยะเวลาดำเนินการ โครงการ 30 วัน ในช่วงเดือน ต.ค.2565 นี้.