เอาใจลูกจ้างขึ้นค่าแรงเร็วขึ้น รัฐบาลเร่ง ต.ค.นี้มีผลบังคับใช้ทันที

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอาใจลูกจ้างขึ้นค่าแรงเร็วขึ้น รัฐบาลเร่ง ต.ค.นี้มีผลบังคับใช้ทันที

Date Time: 10 ส.ค. 2565 08:14 น.

Summary

  • ดันปรับขึ้นค่าแรงเข้า ครม.เดือนก.ย.นี้ ให้มีผลบังคับใช้ ต.ค.ทันที ไม่รอต้นปี 2566 “สุชาติ” ชี้ปีกว่าแล้ว ที่ไม่มีการขึ้นค่าแรง ขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้นไปแล้ว ด้านนายจ้างไม่ติดใจ ยอมรับได้

Latest

ดุสิตธานี เสาหลัก “ท่องเที่ยวไทย” กับเส้นทาง 9 ปี ที่ไม่เคยง่าย ของ“ศุภจี สุธรรมพันธุ์"

ดันปรับขึ้นค่าแรงเข้า ครม.เดือนก.ย.นี้ ให้มีผลบังคับใช้ ต.ค.ทันที ไม่รอต้นปี 2566 “สุชาติ” ชี้ปีกว่าแล้ว ที่ไม่มีการขึ้นค่าแรง ขณะที่ราคาสินค้าแพงขึ้นไปแล้ว ด้านนายจ้างไม่ติดใจ ยอมรับได้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เปิดเผยว่า จะนำเสนอเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงต้นเดือน ก.ย.ให้ได้ เพื่อให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. จากเดิมที่วางเอาไว้ให้มีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2566 เพราะคิดว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนหารือกับสภานายจ้างว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะปรับให้เร็วขึ้นเพราะสินค้าอุปโภคบริโภคมีการปรับตัวไปแล้ว ขอให้เชื่อมั่นว่านายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

“เดิมที่วางเอาไว้ให้การปรับค่าแรงขั้นต่ำมีผลบังคับใช้ช่วงต้นปี 2566 แต่เวลา 1 ปีกว่าที่ผ่านมา ไม่ได้มีการปรับค่าแรงเลย เนื่องจากต้องแก้ปัญหาและเยียวยาประชาชนในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 รัฐบาลทำได้แต่ประคับประคองไม่ให้เลิกจ้าง วันนี้เป็นเวลาที่เหมาะสม นายจ้างเห็นดีเห็นงาม เพราะต้องการให้ลูกจ้างอยู่กับเขาต่อ”

รมว.แรงงานกล่าวว่า ได้มอบนโยบายให้ปลัดกระทรวงแรงงานไปประชุมไตรภาคีจังหวัด ซึ่งประชุมครบทุกจังหวัดแล้ว ได้ตัวเลขมาหมดแล้ว จะต้องทำให้จบภายในเดือน ส.ค.นี้ โดยจะมีการเกลี่ยตัวเปอร์เซ็นต์การขึ้นค่าแรงของแต่ละจังหวัดให้เหมาะสม ซึ่งแต่ละจังหวัดจะต่างกัน 1-2 บาท และแบ่งเป็นหลายช่วง ตัวเลขจะไม่เท่ากันทุกจังหวัด และเป็นไปไม่ได้ที่จะขึ้นพร้อมกันทุกจังหวัด โดยค่าแรงขั้นต่ำที่กำหนดเพิ่มขึ้น 5-8% มีพื้นฐานการตั้งตัวเลขมาจากจีดีพีและภาวะเงินเฟ้อ “การขึ้นค่าแรงต้องสอดคล้องกับค่าของชีพของแต่ละจังหวัด ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และพื้นที่ กทม.ต้องขึ้นก่อน”

เมื่อถามว่า การทำเรื่องนี้เป็นการใช้ประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ นายสุชาติกล่าวว่า มองเป็นเรื่องช่วงเวลา ถ้าการขึ้นค่าเเรงเป็นเรื่องการเมือง คงขึ้นค่าแรง 492 บาทตามข้อเรียกร้องของผู้นำแรงงานไปแล้ว

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงให้ลูกจ้างในภาวะเช่นนี้ถือเป็นอัตราที่นายจ้างยอมรับได้ สะท้อนจากภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งอัตราที่จะขึ้น 5-8% หากยึดค่าแรงลูกจ้างในกรุงเทพฯที่เป็นอัตราสูงสุดขณะนี้ ก็จะขึ้นอีก 24-26.50 บาทต่อวัน

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงแนวโน้มการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอีก 5-8% ว่า เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะไม่ได้ปรับขึ้นมานานถึง 3ปี และการจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 66 ถือว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ อาจจะมีผลกระทบต่อภาคธุรกิจที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เช่น ธุรกิจในภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรม เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจต้องเลือกใช้กลไกในการลดผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงที่แตกต่างกันไป เช่น ปรับลดคนงาน ปรับขึ้นราคาสินค้าหรือค่าบริการ “มองว่าการปรับขึ้นอีก 5-8% จะทำให้มีเม็ดเงินเพิ่มเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอีกเดือนละ 1,500-2,400 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นปีละ 20,000-30,000ล้านบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ปี 66 เพิ่มขึ้นได้อีก 0.1-0.2%” ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่10ส.ค.นี้ เชื่อว่า กนง.จะมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% เนื่องจากเงินเฟ้อล่าสุดเดือน ก.ค.65ยังอยู่สูงถึง 7.6% จึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ