“สุพัฒนพงษ์” จี้หาทางลดค่ากลั่นน้ำมัน โรงกลั่นครวญขอความเป็นธรรม

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“สุพัฒนพงษ์” จี้หาทางลดค่ากลั่นน้ำมัน โรงกลั่นครวญขอความเป็นธรรม

Date Time: 10 มิ.ย. 2565 06:26 น.

Summary

  • พลังงานจี้ทุกหน่วยงานหาทางลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ชี้ต้องรอบคอบ หวั่นผิดกฎการค้าเสรี ด้านกลุ่มโรงกลั่นแจงค่าการกลั่นไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริง

Latest

แบงก์ชาติ เปิดผลกระทบไทย 5 ด้าน หลังสหรัฐขึ้น “ภาษี” ห่วงเจรจาแลก “นำเข้า” ซ้ำเติมภาคการผลิตล้น

พลังงานจี้ทุกหน่วยงานหาทางลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น ชี้ต้องรอบคอบ หวั่นผิดกฎการค้าเสรี ด้านกลุ่มโรงกลั่นแจงค่าการกลั่นไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริง ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ย้ำไม่ได้มีกำไรสูง

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า รัฐบาลกำลังศึกษาแนวทางดูแลราคาพลังงานเพิ่มเติม โดยเฉพาะราคาน้ำมันล่าสุดได้สั่งการให้กระทรวงพลังงาน ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพาณิชย์ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สบค.) และกลุ่มโรงกลั่นน้ำมัน เพื่อศึกษาแนวทางลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นน้ำมัน หรือการลดค่าการกลั่นน้ำมันลง โดยยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะลดได้กี่บาทต่อลิตร เพราะฝั่งโรงกลั่นก็ต้องใช้เวลาในการวางแผน โดยเกณฑ์ราคาที่เหมาะสมต้องเป็นธรรมกับผู้บริโภค

“เรื่องนี้ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงพลังงานสามารถทำได้ระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนเพราะเกี่ยวข้องกับการค้าแบบตลาดน้ำมันเสรี จึงต้องศึกษาในแง่มุมของกฎหมาย ผสมกับการขอความร่วมมือกับหน่วยงานที่ดูแลทั้งหมด เพราะหากไปบังคับอย่างเดียว ก็อาจจะผิดกฎการค้าเสรีได้ ซึ่งเหตุการณ์น้ำมันตลาดโลกแพง เคยเกิดขึ้นมาแล้วเมื่อ 20 ปีก่อน แต่ไม่เคยกินระยะเวลายาวนานขนาดนี้”

นายสุพัฒนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือราคาน้ำมันดีเซล 50% ไม่ให้เกินเพดาน 35 บาทต่อลิตรระยะเวลา 3 เดือนตั้งแต่ เม.ย. และจะสิ้นสุดในช่วงสิ้นเดือน มิ.ย.นี้ ขณะนี้กระทรวงได้หารือร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อติดตามสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อว่าจะส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันอีกนานเท่าใด รวมถึงติดตามกลไกของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่จะสามารถมีงบดูแลราคาน้ำมันได้ถึงเดือนใด ถ้าหากกระทรวงพลังงานมีนโยบายตรึงราคา แต่กระทรวงการคลังไม่พร้อม ที่จะมาช่วยดูแล ก็ไม่สามารถดำเนินมาตรการต่อได้ แต่มั่นใจว่าเดือน ก.ค.นี้จะมีมาตรการใหม่ออกมาดูแลประชาชนในเรื่องราคาน้ำมัน

ด้านนายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) (กลุ่มฯ โรงกลั่นฯ) กล่าวว่าสำหรับประเด็นที่กล่าวถึงกันในสังคมว่าค่าการกลั่นที่โรงกลั่นน้ำมันได้รับนั้นสูงขึ้นกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเป็นเพราะส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินหรือดีเซลเทียบกับน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้นมาตลอดนั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ค่าการกลั่นไม่ได้คำนวณจากส่วนต่างราคาของน้ำมันเบนซินและดีเซลเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิงเท่านั้น แต่ต้องนำส่วนต่างราคาเฉลี่ยของน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดตามสัดส่วนการผลิต (%Yield) ที่โรงกลั่นผลิตได้ ซึ่งรวมถึงก๊าซหุงต้ม หรือน้ำมันเตาที่มีราคาต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบมาคำนวณรวมทั้งหมดเทียบกับราคาน้ำมันดิบที่ซื้อจริง ซึ่งรวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ (Crude Premium) หรือราคาส่วนเพิ่มเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันดิบอ้างอิง และค่าใช้จ่ายในการขนส่งจากแหล่งผลิตมายังประเทศไทย เช่น ค่าขนส่งน้ำมันดิบทางเรือ ค่าประกันภัย เป็นต้น รวมถึงต้องหักลบต้นทุนค่าพลังงานความร้อน ค่าน้ำและค่าไฟที่ใช้ในการกลั่นอีกด้วย

ทั้งนี้ ค่าการกลั่นที่คำนวณได้ดังกล่าวยังไม่สะท้อนกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น เนื่องจากยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมราคาและภาษี เป็นต้น เมื่อนำค่าการกลั่นมาหักลบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เกิดขึ้น รวมถึงกำไร/ขาดทุน จากการบริหารความเสี่ยงด้านราคา (Hedging) และสต๊อกน้ำมัน จึงจะสะท้อนกำไรสุทธิที่โรงกลั่นน้ำมันได้รับจริง

“ดังนั้น หากพิจารณากำไรที่แท้จริงที่กลุ่ม โรงกลั่นได้รับนั้น จะเห็นว่ากลุ่มโรงกลั่นไม่ได้มีกำไรสูงตามราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นในไตรมาส 1 ที่ผ่านมาแต่อย่างใด อีกทั้งกลุ่มโรงกลั่นยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหากราคาน้ำมันมีทิศทางปรับตัวลดลงในอนาคต ซึ่งก็เป็นไปตามวงจรของธุรกิจน้ำมันที่มีทั้งขาขึ้นและขาลง โดยสามารถดูได้จากในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมา ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดและกลุ่มโรงกลั่นขาดทุนสต๊อกน้ำมันในปี 2563 เป็นจำนวนเงินรวมสูงกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มโรงกลั่นยังคงต้องแบกรับการขาดทุนมาอย่างยาวนานต่อเนื่อง”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ