ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยปี 2565

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ความท้าทายของเศรษฐกิจไทยปี 2565

Date Time: 8 ม.ค. 2565 05:05 น.

Summary

  • การปรับทิศทางการดำเนินนโยบายของโลกทั้งนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดที่มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้

Latest

“แอตต้า” หวั่นท่องเที่ยวปีนี้พลาดเป้า! หมดยุคจีนมาไทย 10 ล้านคน

ธนันธร มหาพรประจักษ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย

ก่อนอื่นคณะผู้เขียนขอถือโอกาสกราบสวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่าน เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ในปี 2565 มา ณ ที่นี้ ในช่วงเริ่มต้นปีใหม่ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจหลายแห่งได้ประเมินแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยนี้ว่าจะมีทิศทางดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้น แม้เศรษฐกิจจะเข้าสู่ช่วงของการฟื้นตัว แต่ยังมีความท้าทายหลายอย่างที่ต้องเฝ้าติดตาม บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอพูดถึงเรื่องนี้กันค่ะ

หนึ่งในความท้าทายที่สำคัญคือการระบาดของโควิด–19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ต้องจับตาว่าจะส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกและไทยอย่างไร ซึ่งขึ้นกับความรุนแรงและความเร็วของการแพร่ระบาดว่าจะพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้หลายประเทศรวมถึงไทยต้องล็อกดาวน์อีกครั้งหรือไม่ ที่ผ่านมาเห็นได้ชัดจากบทเรียนของการล็อกดาวน์ว่ามีต้นทุนต่อเศรษฐกิจและสังคมสูง ทั้งผลทางตรงจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ต้องหยุดชะงักลง และผลทางอ้อมจากความเชื่อมั่นของประชาชนและผู้ประกอบการที่ถูกบั่นทอนลง นอกจากนี้ หากสถานการณ์การระบาดยืดเยื้ออาจส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตจากการปิดโรงงาน และอาจไปซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการผลิตที่มีอยู่เดิมจากการหยุดการผลิตในประเทศคู่ค้าที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตเดียวกัน

ถัดมาคือ การปรับทิศทางการดำเนินนโยบายของโลกทั้งนโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลัก อย่างธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟดที่มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ย 2-3 ครั้งในปีนี้ และหยุดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดคิวอีเร็วกว่าที่ตลาดคาด จากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อที่เร่งตัว การปรับทิศทางของนโยบายนี้อาจส่งผลกระทบต่อประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EMs) รวมถึงไทย จากส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กับประเทศหลักที่จะกว้างขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจะกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้าย ค่าเงิน และอัตราผลตอบแทนพันธบัตร ทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นจนอาจกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวได้ ด้านนโยบายการคลัง ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลหลายประเทศใช้เม็ดเงินจำนวนมากเพื่อช่วยเหลือภาคครัวเรือนและธุรกิจในการต่อสู้กับโควิด-19 แต่ตอนนี้หลายประเทศเริ่มระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น เพื่อรักษาวินัยทางการคลัง โดยธนาคารยูบีเอสคาดว่าภาครัฐทั่วโลกจะลดการใช้จ่ายรวมกันกว่า 2.5% ของ GDP โลกในปีนี้ และอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงในระยะข้างหน้าได้

ยังมีความท้าทายจากกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มาเร็วขึ้น ทั้ง 1) เทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นต่อการดำเนินชีวิต ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป อาทิ การทำงานจากที่บ้าน การซื้อสินค้าและบริการ รวมถึงการชำระเงินผ่านทางออนไลน์มากขึ้น และ 2) กระแสการอนุรักษ์และคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นเงื่อนไขของการค้าโลกต่อไปโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วอย่างการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะมีผลให้ภาคธุรกิจและภาครัฐของประเทศต่างๆ ต้องหาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สนับสนุนพลังงานสะอาด และวิธีการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากใครสามารถปรับตัวได้ทันก็จะเป็นโอกาสใหม่ของเศรษฐกิจ แต่หากปรับตัวไม่ทันอาจสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนได้ ไทยจึงต้องเตรียมรับมือกับกระแสที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้

แม้ปีนี้จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจไทยจะก้าวออกจากวิกฤติโควิด-19 อย่างเต็มตัว แต่ก็อาจไม่ได้ราบรื่นนัก ยังมีความท้าทายหลายด้านที่จะต้องเผชิญ ซึ่งแต่ละภาคส่วนควรร่วมมือกันหาทางรับมือกับความผันผวนทางต้นทุนเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ เร่งปรับตัวต่อแนวนโยบายระดับโลกที่เปลี่ยนแปลง หากมีการปรับตัวและเรียนรู้ได้เร็ว สิ่งที่ดูจะเป็นความท้าทายก็อาจจะพลิกเป็นประโยชน์ได้เช่นกัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ