คมนาคม คาด มี.ค. 65 คลอดตั๋วร่วม EMV แตะจ่ายรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ ทางด่วน

Economics

Thai Economics

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คมนาคม คาด มี.ค. 65 คลอดตั๋วร่วม EMV แตะจ่ายรถไฟฟ้า รถเมล์ เรือ ทางด่วน

Date Time: 23 ธ.ค. 2564 20:47 น.

Video

ธุรกิจลับ Toyota ถ้าไม่ได้ขายรถ หาเงินจากไหน ทำไมถึงยิ่งใหญ่อยู่วันยังค่ำ ? | Digital Frontiers

Summary

  • "ศักดิ์สยาม" ตามการบ้าน "ตั๋วร่วม" EMV หวังให้ผู้ใช้บริการขนส่งแตะนั่งรถไฟฟ้า "ม่วง-น้ำเงิน-แดง" พร้อมรถเมล์-เรือ-ทางด่วน แบบเบ็ดเสร็จ

Latest


"ศักดิ์สยาม" ตามการบ้าน "ตั๋วร่วม" EMV หวังให้ผู้ใช้บริการขนส่งแตะนั่งรถไฟฟ้า "ม่วง-น้ำเงิน-แดง" พร้อมรถเมล์-เรือ-ทางด่วน แบบเบ็ดเสร็จ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายระบบตั๋วร่วม (คนต.) ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินตามแผนการดำเนินงานระบบตั๋วร่วม ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร่วมกับ บมจ.ธนาคารกรุงไทยได้รายงานความคืบหน้าการนำบัตร Europay Mastercard and Visa (EMV) มาใช้ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมในรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และรถไฟชานเมือง สายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยคาดว่า จะเปิดให้บริการแก่ประชาชนทั่วไป ได้ภายในเดือนมีนาคม 65 ซึ่งสามารถรองรับการใช้งานในรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และบริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด และระบบเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า รวมถึงระบบทางพิเศษของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ด้วย

นอกจากนั้น ที่ประชุมได้รับทราบความคืบหน้าการพัฒนาและเปิดให้บริการระบบจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือระบบ M-Flow ของกรมทางหลวง (ทล.) และ กทพ. โดย ทล. ได้ดำเนินการติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานของระบบ M-Flow บนทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 จำนวน 4 ด่าน ได้แก่ ด่านทับช้าง 1, ด่านทับช้าง 2, ด่านธัญบุรี 1 และด่านธัญบุรี 2 ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบเสมือนจริง และได้เปิดให้ผู้ใช้ทางลงทะเบียนสมัครสมาชิกระบบ M-Flow แล้ว เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 64 โดยมีผู้ลงทะเบียนระบบ M-Flow สำเร็จ จำนวน 20,363 คน จากจำนวนผู้ลงทะเบียนทั้งหมด 25,244 คน รวมทั้งได้ให้สิทธิพิเศษสำหรับผู้ลงทะเบียนสมัครใช้งานระบบ M-Flow จำนวน 100,000 สิทธิ์แรก สามารถวิ่งผ่านทางฟรี 2 เที่ยว ขณะนี้ยังมีสิทธ์คงเหลือจำนวน 79,637 สิทธิ์ (ข้อมูล ณ วันที่ 16 ธันวาคม 64)

สำหรับลูกค้า M-Pass ที่ลงทะเบียนใช้บริการผ่านระบบ M-Flow และเลือกชำระเงินด้วยบัญชี M-Pass ผ่านช่องทางที่กำหนด จะได้รับโบนัสค่าผ่านทางจำนวน 100 บาท ซึ่งคณะกรรมการบริหารเงินทุนค่าธรรมเนียมผ่านทาง ทล. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการนำเงินค่าธรรมเนียมที่เก็บได้มาใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมให้สิ่งจูงใจในการใช้ระบบ M-Flow โดยการให้ส่วนลด 20% สำหรับผู้ใช้ระบบ M-Flow แล้ว ในส่วนของ กทพ. ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการติดตั้งระบบ M-Flow ระยะที่ 1 บนทางพิเศษฉลองรัชที่ด่านนำร่อง 3 ด่าน (จตุโชติ สุขาภิบาล 5-1 และสุขาภิบาล 5-2 โดยได้ดำเนินการติดตั้งอุปกรณ์แล้วเสร็จบางส่วน และเริ่มดำเนินการติดตั้งโครงป้ายคร่อมช่องจราจร (Gantry) ที่ด่านนำร่องแล้ว สำหรับงานจัดจ้างบริหารจัดการระบบฯ คาดว่าจะดำเนินการจัดจ้างได้ภายในเดือนมกราคม 65 และดำเนินการติดตั้งและทดสอบระบบภายในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 65

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการจัดทำและทบทวนร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....ของคณะกรรมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ซึ่งที่ประชุมได้รับทราบผลการดำเนินการและมีมติเห็นชอบข้อเสนอแนะเพื่อการดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมของคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานทางเทคโนโลยี และสถาปัตยกรรมองค์กร และคณะอนุกรรมการด้านการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าโดยสารและการจัดสรรรายได้ ดังนี้

ด้านเทคนิค 1. ให้ รฟม. จัดทำระบบตั๋วร่วมในรูปแบบการผูกกับบัญชีที่ระบุตัวตนผู้โดยสาร หรือ Account Based Ticketing (ABT) กลาง ตามแนวทางการพัฒนาของระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และสายสีม่วงในช่วงแรก และทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในช่วงการเปลี่ยนถ่ายระบบ หลังจากนั้นให้โอนถ่ายระบบไปยังหน่วยงานบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมกลาง ซึ่งจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. ....

2. พัฒนามาตรฐานบัตร และหัวอ่าน (Reader) ในรูปแบบ ABT 3. ประเมินต้นทุนในการปรับปรุงระบบของผู้ให้บริการ (Operator) ต่าง ๆ

ด้านอัตราค่าโดยสารและนโยบาย 1. เส้นทางที่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทานที่กำกับดูแลโดยกระทรวงคมนาคม (รฟม./รฟท.) ให้ดำเนินการเจรจาการปรับใช้โครงสร้างอัตราตั๋วร่วม 2. สำหรับเส้นทางที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงานให้พิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขสัญญา หรือการประมูลให้สอดคล้องกับโครงสร้างอัตราใหม่ 3. สำหรับเส้นทางที่อยู่ระหว่างการวางแผนและการศึกษา ให้ดำเนินการปรับปรุงและพิจารณา การวิเคราะห์และวางแผนโครงการในอนาคต โดยคำนึงถึงโครงสร้างอัตราตั๋วร่วม

4. พิจารณาแนวทางในการจัดสรรรายได้ค่าโดยสาร และการเก็บค่าบริหารระบบกลางในสัญญาต่างๆ 5. ติดตามการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. .... ให้เป็นไปตามกรอบข้อเสนอแนะ คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factors) ในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมแบบสมบูรณ์ ประกอบด้วย พระราชบัญญัติการบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ที่สามารถบังคับใช้มาตรฐานระบบตั๋วร่วมกลาง โครงสร้างอัตราตั๋วร่วมทุกรูปแบบการเดินทางและการจัดสรรรายได้ การบังคับใช้ และการดำเนินการเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนถ่ายไปสู่ระบบที่สมบูรณ์ ทั้งในด้านงบประมาณและเทคโนโลยี

นอกจากนี้ให้มีการจัดตั้งระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House: CCH) เพื่อรองรับระบบตั๋วร่วม ในรูปแบบ ABT เพื่อจัดการระบบบัตรโดยสารและบัญชีผู้ใช้งาน รวมทั้งเชื่อมต่อกับระบบการชำระเงินได้หลากหลายรูปแบบ และการจัดตั้งองค์กรกลาง เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการระบบตั๋วร่วมในรูปแบบที่สมบูรณ์ ทั้งทางด้านเทคนิค การกำกับดูแล และการพิจารณาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ