87 คณาจารย์เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จากสถาบันต่างๆ ออกแถลงการณ์ยก 3 เหตุผล เรียกร้องตรวจสอบการควบรวมกิจการ ทรู-ดีแทค
วันที่ 13 ธันวาคม 2564 คณาจารย์เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จากสถาบันต่างๆ รวม 87 คน ลงนามในแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบการควบรวมกิจการของทรู และดีแทค โดยในแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (ทรู) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (ดีแทค) ประกาศความประสงค์ที่จะควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ตามที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 64 ที่ผ่านมานั้น
คณาจารย์เศรษฐศาสตร์ และนิติศาสตร์ จากสถาบันต่างๆ ขอเรียกร้องให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้อง ออกมาตรการตรวจสอบและกำกับดูแลการควบรวมกิจการครั้งนี้ เนื่องจากการประกาศควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค ในครั้งนี้ แม้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ แต่ค่อนข้างชัดเจนว่า น่าจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการแข่งขัน ผู้บริโภค และเศรษฐกิจของประเทศ
โดยมองว่า อย่างแรก หากการควบรวมครั้งนี้สำเร็จ ผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเหลือเพียง 2 ราย จากเดิม 3 ราย ถือเป็นระดับการกระจุกตัวที่เข้มข้นที่สุดที่จะเกิดขึ้นได้ในตลาดที่มีการแข่งขัน ซึ่งเชื่อว่าน่าจะส่งผลอย่างรุนแรงต่อระดับการแข่งขัน และสวัสดิการของผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพการณ์ที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ การลดลงของการแข่งขันจะเพิ่มต้นทุนและลดโอกาสการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านดิจิทัลของประชาชน
นอกจากนี้ โทรศัพท์เคลื่อนที่จัดเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน รากฐานที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล ดังนั้น ในเมื่อการควบรวมกิจการครั้งนี้สุ่มเสี่ยงที่จะนำไปสู่โครงสร้างตลาดที่ผูกขาดมากกว่าเดิม ผู้ประกอบการดิจิทัล (digital companies) ผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (startups) และผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่กำลังนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินธุรกิจ (digitization) ซึ่งล้วนแต่อาศัยเครือข่ายโทรคมนาคม ย่อมสุ่มเสี่ยงที่จะเผชิญกับต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อแรงจูงใจในการคิดค้นนวัตกรรม ความสามารถในการแข่งขัน และการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลโดยรวม
รวมถึง วิธีควบรวมกิจการที่อยู่ระหว่างการศึกษา จะก่อเกิดบริษัทใหม่และยุบเลิกบริษัทเดิม สุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม แม้ในช่วงการศึกษาความเป็นไปได้
วิธีการควบบริษัท หรือ amalgamation นั้น นับเป็นวิธีควบรวมกิจการที่เข้มข้นที่สุด เนื่องจากจะต้องควบรวมทุกมิติของกิจการเข้าด้วยกันเป็นบริษัทใหม่ ดังนั้น ในระหว่างการตรวจสอบกิจการซึ่งกันและกัน (due diligence) จึงสุ่มเสี่ยงว่าอาจเกิดพฤติกรรมที่เข้าข่ายการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับราคาและเงื่อนไขการให้บริการ การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับแผนการลงทุน เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้อาจก่อผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้บริโภคและการแข่งขัน ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดการควบรวมกิจการอาจไม่บรรลุผลสำเร็จก็ตาม
ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ กสทช. และ กขค. ใช้อำนาจตามกฎหมาย ทำหน้าที่ตรวจสอบและกำกับการควบรวมครั้งนี้อย่างทันท่วงที ทั้งนี้ เพื่อป้องกันมิให้เกิดการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน อันเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานกำกับดูแลทั้งสอง.
ดูเอกสารต้นฉบับและรายชื่อ 87 คณาจารย์ได้ที่นี่ (คลิก)