ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่ประเทศไทย ในรูปแบบพำนักระยะยาว ตั้งเป้า 5 ปี มีชาวต่างชาติฐานะเศรษฐกิจสูง ผู้เชี่ยวชาญรวม 1 ล้านคน เพิ่มการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท ปริมาณเงินลงทุน 800,000 ล้านบาท และช่วยเพิ่มรายได้ทางภาษี 270,000 ล้านบาท
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตร (ครม.) เห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงให้เข้ามาอยู่ประเทศ ไทย ในลักษณะผู้พำนักระยะยาว (long-term stay) ตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอเพื่อเร่งให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น และทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก คือ 1. การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident visa) และ 2. การแก้กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ ตั้งเป้าหมายในช่วง 5 ปี (2565-2569) จะสามารถดึงดูดชาวต่างชาติ 1 ล้านคน ให้ย้ายถิ่นฐานมาพำนักในไทย ซึ่งช่วยสร้างรายได้เข้าประเทศ โดยช่วยเพิ่มปริมาณเงินใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจถึง 1 ล้านล้านบาท รวมถึงมีปริมาณเงินลงทุนในระบบเศรษฐกิจ 800,000 ล้านบาท และเพิ่มรายได้ทางภาษีได้อีก 270,000 ล้านบาท
โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม 1.กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง มีการลงทุนขั้นต่ำ 500,000 เหรียญสหรัฐฯ ในพันธบัตรไทย หรือมีลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และมีเงินเดือนหรือเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 เหรียญฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีทรัพย์สินขั้นต่ำ 1 ล้านเหรียญฯ 2.กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ มีการลงทุนขั้นต่ำ 250,000 เหรียญฯ หรือลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือลงทุนในอสังหาฯ และมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 40,000 เหรียญฯ หรือกรณีไม่มีการลงทุนต้องมีเงินบำนาญขั้นต่ำ ปีละ 80,000 เหรียญฯ
3.กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย มีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน ปีละ 80,000 เหรียญฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 เหรียญฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป ครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา ได้รับเงินทุนซีรีเอ และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปี
“บุคคลใน 3 กลุ่มแรกนี้จะได้รับสิทธิประโยชน์ คือ ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกัน ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน และในอนาคตอาจได้รับสิทธิในการเป็นเจ้าของหรือเช่าอสังหาฯระยะยาวรวมทั้งที่ดินได้”
สำหรับกลุ่มที่ 4 กลุ่ม คือ ผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ มีรายได้ส่วนบุคคล เช่น เงินเดือน และรายได้จากการลงทุน ปีละ 80,000 เหรียญฯ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือปีละ 40,000 เหรียญฯ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป และมีประสบการณ์ทำงาน 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ไทยกำหนด โดยจะได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับชาวต่างชาติกลุ่มอื่นๆ แต่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศในอัตราเทียบเท่ากับอัตราภาษีเงินได้ที่ได้รับจากการจ้างงานในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก
ทั้งนี้ ครม.ได้มอบหมายให้ สศช. หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณามาตรการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบ ได้แก่ การกำหนดวีซ่าประเภทพิเศษ การสร้างระบบอำนวยความสะดวกให้รับอนุมัติวีซ่าอย่างรวดเร็ว การให้สิทธิคู่สมรสและบัตรได้รับวีซ่าผู้ติดตาม และได้รับยกเว้นไม่ต้องไปรายงานตัวทุก 90 วัน การอำนวยความสะดวกเรื่องการแจ้งย้ายที่อยู่ วิธีการต่อวีซ่า รวมทั้งหลักเกณฑ์การเปลี่ยนแปลงสถานะของการอยู่อาศัยในไทย ให้ผู้ถือวีซ่าทำงานได้ตามคุณสมบัติที่ขอวีซ่าไว้ ไม่นำข้อกำหนดเกี่ยวข้องกับอัตราส่วนการจ้างพนักงานไทยต่อต่างชาติมาใช้ และลดพิกัดภาษีนำเข้าไวน์ สุรา และซิการ์ ลงกึ่งหนึ่งเป็นเวลา 5 ปี โดยให้ สศช.ประเมินผลสัมฤทธิ์ภาพรวมโครงการ ทุกๆ 5 ปี ขณะที่สิทธิประโยชน์ด้านภาษีและการถือครองที่ดินก็ให้สิ้นสุด หลังจากวันที่เริ่มบังคับใช้แล้ว 5 ปี แต่หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็สามารถขยายระยะเวลาการบังคับใช้ออกไปได้ตามความเหมาะสมด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในพื้นที่อีอีซี มีการคิดภาษีเงินได้ของคนงานต่างชาติที่ทำงานในเขตส่งเสริมต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่อัตรา 17% ส่วนผู้บริหารต่างชาติที่ทำงานที่สำนักงานใหญ่หรือบริษัทการค้าระหว่างประเทศในพื้นที่อีอีซี เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 15%.