นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะ โฆษก กกพ. เปิดเผยความคืบหน้ามาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 เพิ่มเติมในเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้า โดยได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) พิจารณาแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาสนับสนุนมาตรการดังกล่าว จะมาจากเงินบริหารค่าไฟฟ้าที่รวบรวมได้จากการกำกับฐานะการเงิน, เงินส่งคืนจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผน, เงินค่าปรับที่เกิดขึ้นจากการบริหารสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน ระหว่างปี 2557-2562 รวมทั้ง เงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน รวมวงเงินที่ได้ 10,000 ล้านบาท เพียงพอต่อการใช้
“เดิมในที่ประชุม ครม.คาดว่าจะใช้วงเงินในการอุดหนุนค่าไฟฟ้าประชาชน 20 ล้านครัวเรือน รวม 23,000 ล้านบาท แต่เมื่อ กกพ.พิจารณาร่วมกับ 3 การไฟฟ้าฯ และความทับซ้อนจากเดิมอุดหนุน 50 หน่วย ทำให้เงินอุดหนุนลดลงเหลือ 20,000 ล้านบาท และสามารถหาเงินได้อีก 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีเงินอยู่แล้ว 10,000 ล้านบาท จึงเพียงพอ นอกจากนี้จากการประเมินต้นทุนราคาพลังงานที่ยังอยู่ระดับต่ำ กกพ.คาดว่าอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวด ก.ย.-ธ.ค.จะไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ -11.60 สตางค์ต่อหน่วยต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกเหนือจากมติ ครม.เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ในการลดค่าไฟช่วยเหลือประชาชน 3 เดือน (เม.ย.-มิ.ย.) 20 ล้านครัวเรือน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ยังต้องการให้ กกพ.ช่วยต้นทุนค่าไฟให้กับภาคธุรกิจ โดยยกเว้นการคิดค่าไฟฟ้าขั้นต่ำ (มินิมัม ชาร์จ) หรือการคิดแบบเหมาจ่าย เป็นคิดตามการใช้จริงหรือดีมานด์ ชาร์จ จากเดิมยกเว้นให้ในเดือน เม.ย.-มิ.ย.นี้ ไปถึงเดือน ธ.ค.นี้ แต่ในการประชุมเมื่อวันที่ 29 เม.ย. กกพ.ยังมีมติให้คิดแบบดีมานด์ ชาร์จไปจนถึง มิ.ย.นี้ไปก่อน ส่วนข้อเสนอให้ยกเว้นถึงสิ้นปี การประชุมเดือน มิ.ย.นี้ กกพ.จะพิจารณาอีกครั้ง
ขณะที่เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้จัดทำรายละเอียดธุรกิจที่ได้รับผลกระทบเพิ่ม 32 กลุ่มอุตสาหกรรม โดยขอให้ขยายระยะเวลาดีมานด์ ชาร์จออกไปจนถึงสิ้นปีนี้.