ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี อนาลิติกส์) เผยแพร่บทวิเคราะห์มาตรการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ของรัฐบาล โดยระบุว่า มาตรการเยียวยาผลกระทบชุดใหญ่เม็ดเงินกว่า 1 ล้านล้านบาท จะช่วยยืดเงินใช้จ่ายของลูกจ้างที่มีอยู่จาก 2 เดือนเป็น 8 เดือน ทำให้ธุรกิจมีสภาพคล่องหมุนเวียนเพิ่มจาก 3 เดือน เป็น 5 เดือน สามารถประคองการจ้างงานและพร้อมฟื้นตัวเมื่อวิกฤติคลี่คลาย
ทั้งนี้ ทีเอ็มบีแบ่งช่วงรับมือโควิด-19 เป็น 2 ระยะ (เฟส) คือ เฟสแรก หยุดเชื้อเพื่อชาติ ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประกาศเคอร์ฟิวและล็อกดาวน์ ทำให้ประชาชน ลูกจ้าง และแรงงานราว 9 ล้านคน สูญรายได้ และภาคธุรกิจปิดกิจการ เกิดปัญหาสภาพคล่อง อาจกินเวลา 3 เดือน (มี.ค.-พ.ค.63) นั้นพบว่า เงินชดเชยรายได้ 5,000 บาทต่อเดือน นาน 6 เดือน ครอบคลุมลูกจ้าง 9 ล้านคน, การเพิ่มสภาพคล่อง โดยให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำรายละ 10,000-50,000 บาท บวกกับมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายต่างๆจะช่วยลดผลกระทบของลูกจ้างและแรงงานได้
นอกจากนี้ การเติมสภาพคล่องให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยให้ซอฟต์โลน ซึ่งรวมมาตรการสินเชื่อทั้ง 3 ระยะที่ออกมาแล้ว วงเงิน 800,000 ล้านบาท จะช่วยยืดอายุเอสเอ็มอีออกไปอีก 2 เดือน ทั้งนี้ ประเมินว่ามาตรการเยียวยาทั้งให้เงินและสินเชื่อจะทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ 188,000 ล้านบาท ช่วยหนุนให้การบริโภคโต 2.3% ของการบริโภคภาคเอกชน ส่วนเฟส 2 ฟื้นตัวสู่ปกติ คาดตั้งแต่เดือน มิ.ย.63 พบว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็น โดยเม็ดเงินส่วนนี้ตาม พ.ร.ก.กู้เงินอยู่ที่ 400,000 ล้านบาท หากรัฐออกมาตรการการเงินและการคลังเพิ่มเติมอีกจะเร่งให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเร็วขึ้น เช่น มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่าย การให้สินเชื่อฟื้นฟูกิจการหรืออาชีพ เป็นต้น
นางสาววิมลกานต์ โกสุมาศ รักษาการแทนผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวถึงผลสำรวจความคิดเห็นเอสเอ็มอี เรื่องการปรับตัวในภาวะวิกฤติโควิด-19 ว่า เดือน มี.ค.63 ผู้ตอบมากถึง 2,315 ราย ระบุยอดขายลดลง ธุรกิจได้รับผลกระทบมากสุด คือ ร้านอาหารที่ยังไม่เข้าร่วมดิลิเวอรี และร้านโชห่วย โดยเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ยังไม่มีแผนปรับตัวรับมือกับโควิด-19 ดังนั้น สสว.จะให้ศูนย์บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (โอเอสเอส) ทั่วประเทศ รับข้อร้องเรียนจากเอสเอ็มอีเพื่อช่วยเหลือและส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือต่อไป.