กรุงไทยปิดบูธแลกเปลี่ยนเงินทั่วประเทศ 53 แห่ง พร้อมให้พนักงานหยุดงาน 14 วัน มองเศรษฐกิจไทยโต 1.5% ไวรัสโควิด-19 จบได้ครึ่งปี กระทบท่องเที่ยวเสียหาย 2.78 แสนล้านบาท ภัยแล้งรุนแรง “ข้าว-อ้อย-มันสำปะหลัง” เสียหาย 5.8 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารกรุงไทย ยกระดับการเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ตามมาตรการกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะความปลอดภัยของลูกค้าและประชาชน ตลอดจนลดความเสี่ยงการปฏิบัติงานของพนักงาน จึงได้ประกาศหยุดการให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่สาขา และปิดสำนักงานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (FX Booth) ทั่วประเทศ จำนวน 53 แห่ง ตั้งแต่ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 11 มี.ค.เป็นต้นไป จนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ ลูกค้ายังคงสามารถใช้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศด้วยบัตรกรุงไทยทราเวลการ์ด ผ่านแอปพลิเคชัน Krungthai NEXT ได้ตามปกติ ทั้งนี้ ธนาคารได้แจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว สำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานด้านแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ธนาคารให้หยุดงานและอยู่ในที่พักเป็นระยะเวลา 14 วัน ตามแนวทางปฏิบัติของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ธนาคารยังไม่พบพนักงานติดเชื้อโควิด-19 และยังคงเฝ้าระวังและปฏิบัติตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเข้มข้นและใกล้ชิดต่อไป
ด้านนายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส (Krungthai COMPASS) ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ขยายวงกว้างไปทั่วโลก ส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออก ที่เป็นเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจไทย โดยคาดว่ารายได้จากการท่องเที่ยวของไทยปีนี้จะหายไปราว 278,000 ล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยวในช่วงครึ่งปีแรกเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ในกรุงเทพฯจะลดลงประมาณ 3 ล้านคน ภูเก็ต และเชียงใหม่จะลดลงกว่า 1 ล้านคน โดยรายได้ของธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และแหล่งช็อปปิ้งต่างๆ จะได้รับผลกระทบเป็นมูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท ส่วนด้านการส่งออก คาดว่าจะหดตัว 1.9% โดยผลกระทบต่อการส่งออกคาดว่าจะสั้นกว่าผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด และยังไม่สามารถคาดการณ์ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซึ่งหากใช้เวลา 6 เดือนเต็ม มีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะโตเพียง 1.5% ภาพการลงทุนของเอกชนในปีนี้จึงไม่สดใสนัก และมีแนวโน้มจะชะลอเพิ่มเติม เพราะราคาน้ำมันลดลงแรง”
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับอีกหลายปัจจัยเสี่ยง ทั้งภัยแล้ง เศรษฐกิจอาเซียนที่ชะลอลง สงครามการค้าที่ยังยืดเยื้อและข้อตกลง EVFTA ของเวียดนามที่จะเพิ่มอุปสรรคต่อการส่งออกสิ่งทอไทยในตลาดยุโรป โดยเฉพาะภัยแล้งหากรุนแรง อาจทำให้พืชผลการเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าว มันสำปะหลัง และอ้อย สูญเสียรวม 58,000 ล้านบาท กระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในภาคเกษตร
สำหรับภาครัฐจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญสำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ผ่านการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2563 ของทุกส่วนราชการ โดยการเบิกจ่ายรายจ่ายประจำจะสามารถเบิกจ่ายเต็มวงเงินที่ 2.4 ล้านล้านบาท ส่วนงบลงทุนจะเบิกจ่ายได้ไม่ต่ำกว่า 67% สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ คาดว่าภาครัฐจะระดมมาตรการกระตุ้นการบริโภคออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศหลังโควิด-19 คลี่คลาย การต่อยอดมาตรการกระตุ้นการบริโภค ชิม ช้อป ใช้ มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนและประคับประคองเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้.