ปัญหา “ผีน้อย” ตกหล่นท่ามกลางกระแสสถานการณ์แพร่ระบาด “ไวรัสโควิด-19” ที่ยังคงระอุร้อนในหลายๆประเทศทั่วโลก...“ให้คนละหมื่น ล่าผีน้อย หนีคัดกรอง ขู่เปิดชื่อ-หน้า หากไม่รีบรายงานตัว” หัวข้อข่าว “ไทยรัฐออนไลน์” วันที่ 9 มี.ค.2563 เวลา 15.13 น. ยิ่งตอกย้ำเงื่อนปัญหา
ประเทศกลุ่มเสี่ยงที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกำหนดให้ 4 ประเทศ และ 2 เขตปกครองพิเศษ เป็นเขตโรคติดต่ออันตราย ประกอบด้วย เกาหลีใต้ จีน อิตาลี อิหร่าน...รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง หากนักท่องเที่ยวหรือบุคคลทั่วไปจากประเทศดังกล่าวที่จะเดินทางเข้ามาไทย ต้องมีใบรับรองแพทย์อย่างเป็นทางการว่า...“ต้องไม่ติดเชื้อไวรัส” เพื่อนำมาแสดงต่อสายการบินที่ขึ้นเครื่อง
และถ้าไม่มีใบรับรองแพทย์ก็ไม่สามารถออกมาจากประเทศต้นทางได้และห้ามเข้าประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม กรณีถ้าเข้ามาถึงไทยแล้ว ตรวจพบว่ามีไข้จะต้องถูกกักตัว 14 วัน ว่าสุ่มเสี่ยงติดเชื้อไวรัสโควิด-19 หรือไม่ ถ้าติดเชื้อก็ต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนคนไทยหากมาจากประเทศสุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะเกาหลี...จะถูกกัก 14 วัน ถ้าไม่มีไข้จะปล่อยกลับบ้านทันที
ไม่เฉพาะแรงงานผีน้อยที่กำลังเป็นปัญหา วันนี้...แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนไม่น้อยก็เหมือนอยู่ในสภาวะสุญญากาศ ยังมีความเข้าใจผิดในกฎระเบียบ ข้อปฏิบัติบางช่วงบางตอน
สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน บอกว่า นายจ้างและแรงงานต่างด้าวที่มีกำหนดนัดหมายต้องพาแรงงานต่างด้าวไปขออนุญาตทำงานและขออยู่ต่อในราชอาณาจักร เข้าดำเนินการภายในศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ กรุงเทพมหานคร (OSS) ในระหว่างการเฝ้าระวังอาการตนเอง 14 วัน
เพราะเดินทางกลับมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคปอดอักเสบไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ที่แพร่ระบาดได้แก่ จีน...รวมฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ นั้น
สามารถขอยกเลิกนัดหมายการเข้าศูนย์ฯและลงนัดหมายใหม่ได้
แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ภายในระยะเวลาที่กำหนด โดยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10
หรือ...สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน
ประเด็นที่ต้องเน้นย้ำ...“เราให้นัดหมายใหม่ได้ ไม่ใช่ขยายเวลา”
ลงลึกในรายละเอียดขีดเส้นใต้ “นายจ้าง” ยื่น “รายชื่อ (Name list)” และตรวจสุขภาพแรงงาน ก่อนปิดจ๊อบต่ออายุต่างด้าว
สุชาติ บอกว่า หม่อมราชวงศ์ จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับให้กรมการจัดหางาน เร่งรัดประชาสัมพันธ์ให้นายจ้างที่ต้องพาแรงงานต่างด้าวไปขออนุญาตทำงานและขออยู่ต่อในราชอาณาจักรว่า ขณะนี้ใกล้สิ้นสุดระยะเวลาการเปิดต่ออายุใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวแล้ว
จึงขอเตือนให้นายจ้าง...สถานประกอบการ รีบดำเนินการ ยื่นบัญชี รายชื่อคนต่างด้าว (Name List) ในระบบ e-workpermit. doe.go.th และรีบพาแรงงานไปตรวจสุขภาพให้แล้วเสร็จ
ซึ่งได้รับแจ้งเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุขว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีสถานพยาบาลของรัฐ พร้อมให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน จำนวน 12 แห่ง ได้แก่
1.โรงพยาบาลราชวิถี ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 1,200 คนต่อวัน วันเสาร์-อาทิตย์ จำนวน 3,000 คนต่อวัน 2.โรงพยาบาลเลิดสิน ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 1,600 คนต่อวัน วันเสาร์ จำนวน 1,600 คนต่อวัน
3.โรงพยาบาลนพรัตน์ฯ ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 400 คนต่อวัน วันอาทิตย์ จำนวน 1,000 คนต่อวัน 4.โรงพยาบาลวชิรพยาบาล ให้บริการตรวจวันอาทิตย์ จำนวน 1,500 คนต่อวัน
5.โรงพยาบาลกลาง ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 1,200 คนต่อวัน
6.โรงพยาบาลเจริญกรุงฯ ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 80 คนต่อวัน วันอาทิตย์จำนวน 1,000 คนต่อวัน 7.โรงพยาบาลตากสิน ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 1,000 คนต่อวัน 8.โรงพยาบาลเวชการุณยรัศมิ์ ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 650 คนต่อวัน
9.โรงพยาบาลลาดกระบัง ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 30 คนต่อวัน วันหยุดราชการ จำนวน 600-700 คน 10.โรงพยาบาลสิรินธร ให้บริการตรวจวันจันทร์-ศุกร์ จำนวน 150 คนต่อวัน 11.โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ ให้บริการตรวจทุกวัน วันละ 2,000 คน และ 12.โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโร อุทิศ ให้บริการตรวจวันเสาร์-อาทิตย์ จำนวนวันละ 700 คน
สำหรับ “แรงงานต่างด้าว” ที่ทำงานกับ “สถานประกอบการ” ที่อยู่ในระบบ “ประกันสังคม” และแรงงานต่างด้าวนั้นเป็นผู้ประกันตนที่มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมแล้ว สามารถตรวจสุขภาพได้ที่สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งที่ได้รับใบอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาล
และ...รับบริการตรวจสุขภาพคนต่างด้าวเพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตทำงาน ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของสถานพยาบาลก่อนเข้ารับบริการ
“สถานพยาบาลของรัฐและเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครแต่ละแห่งยังสามารถรองรับการให้บริการตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อขอใบอนุญาตทำงานได้อีกเป็นจำนวนมาก” สุชาติ ว่า
ในภาพรวมกรุงเทพมหานครได้รับแจ้งว่าออกใบรับรองแพทย์แล้ว จำนวน 79,854 คน ดังนั้น...จึงขอย้ำให้เร่งดำเนินการตามกำหนดเวลาดังกล่าวอย่ารีรอจนถึงวันสุดท้าย เพราะอาจไม่ทันเวลา ทั้งยังอาจไม่ได้รับความสะดวก เนื่องจากยิ่งใกล้วันปิดรับจะมีนายจ้างและแรงงานต่างด้าวมาใช้บริการจำนวนมาก
สุชาติ พรชัยวิเศษกุล อธิบดีกรมการจัดหางาน ฝากทิ้งท้ายว่า หากพ้นกำหนดแรงงานต่างด้าวจะไม่สามารถอยู่และทำงานต่อไปได้และกรมการจัดหางานจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมาย
หากพบคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 5,000-50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร
ขณะเดียวกัน นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000-100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และ...ห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี
สถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้คน “ตื่นตัว” แต่อย่าได้ “ตื่นตูม”...จะเดินทางไปไหนก็สวม “หน้ากาก” ป้องกัน ที่สำคัญ...ควรวางแผนวันเวลาเข้ารับการใช้บริการสาธารณสุขในโรงพยาบาลให้ดี เพื่อลด “ภาระงาน” เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง.