ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ฝ่ายวิจัยของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยบทวิจัย ธุรกิจ เรื่อง “ราคาน้ำมันดิ่งเหว นัยต่อการส่งออกไทย” ระบุว่าหลังจากประเทศรัสเซียปฏิเสธข้อเสนอของซาอุดีอาระเบีย ที่เสนอให้ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในการประชุมระหว่างกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) กับประเทศนอกกลุ่มโอเปกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ซาอุดีอาระเบียไม่พอใจและประกาศทำสงครามราคาน้ำมัน โดยได้ปรับลดราคาขายน้ำมันดิบให้กับลูกค้าทั่วโลกลง 6-8 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรล และเพิ่มกำลังการผลิตของตัวเองจากเดิม 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวันขึ้นเป็น 12 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ส่งผลให้ล่าสุดราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลงจากระดับกว่า 50 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเหลือ 27 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อบาร์เรลเท่านั้น ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้ตลาดน้ำมันและตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นอย่างมาก
สำหรับราคาน้ำมันที่ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เปรียบเสมือนเหรียญสองด้านที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย โดยในด้านบวก จะทำให้ไทยซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ประหยัดเงินในการนำเข้าน้ำมันดิบได้บางส่วน เนื่องจากแต่ละปีไทยนำเข้าน้ำมันดิบเกือบ 700,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ประกอบการจะมีต้นทุนการผลิตลดลง โดยเฉพาะต้นทุนค่าขนส่ง
ส่วนด้านลบ ราคาน้ำมันที่ลดลงอาจกระทบการส่งออกสินค้าและบริการของไทย โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ไทยพึ่งพาตลาดโอเปกและรัสเซียสูง ได้แก่ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ข้าว เครื่องปรับอากาศ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นต้น ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง และเม็ดพลาสติก เป็นต้น ก็มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งกลุ่มสินค้าดังกล่าวมีสัดส่วนรวมกันราว 15% ของมูลค่าส่งออกรวม นอกจากนี้ ในด้านปริมาณก็ยังคงถูกกดดันจากความต้องการที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันอันดับ 1 ของไทยอีกด้วย
ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรอาจได้รับผลกระทบทางอ้อม เนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวมักเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาน้ำมัน โดยเฉพาะยางพารา ที่ปัจจุบันเกิดภาวะยางพาราล้นตลาดอยู่แล้ว.