ตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค.นี้ เสียงก่นด่า และเสียงวิพากษ์วิจารณ์การบริหารจัดการ “หน้ากากอนามัย” ของกระทรวงพาณิชย์ น่าจะลดลง รวมถึงการหาซื้อ “หน้ากากอนามัย” ยาก และมีราคาแพง น่าจะคลี่คลายได้ในระดับหนึ่ง
หลังจากกระทรวงพาณิชย์ ประกาศ “ยึด” หน้ากากอนามัยทุกชิ้นที่ผลิตได้ในประเทศ หรือวันละ 1.2 ล้านชิ้น มาไว้ที่ “ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย” ที่บริหารร่วมกันระหว่างกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงสาธารณสุข
นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ที่กระทรวงพาณิชย์ยึดสินค้าของภาคเอกชน มาบริหารจัดการเองทั้งหมด!!
แต่ไม่ถือเป็นการแทรกแซงการทำธุรกิจของเอกชน เพราะ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 ให้ “อำนาจ” กระทรวงพาณิชย์เต็มที่ ในการบริหารจัดการสินค้าควบคุมภายใต้ภาวะวิกฤติ
เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน และกระจายสู่ทุกภาคส่วนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากเดิมที่ขอปันส่วนจากโรงงานผลิต 11 แห่งมาเพียงวันละ 600,000 ชิ้น จากที่ผลิตได้วันละ 1.2 ล้านชิ้น ทำให้ โรงงานเอาส่วนที่เหลือมาขายในช่องทางการค้าปกติ จนเกิดการโก่งราคาขาย ทั้งในออนไลน์ และร้านค้าทั่วไป เอาเปรียบประชาชนในภาวะวิกฤติ
นอกจากนี้ “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ในฐานะประธาน “คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ” หรือ กกร. ยังได้ลงดาบสองซ้ำอีก เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลน
โดยลงนามประกาศ กกร.เมื่อวันที่ 5 มี.ค.63 กำหนดราคา ขายปลีกสูงสุดหน้ากากอนามัย (สีเขียว) ที่ใช้ป้องกันไวรัสโควิด-19 ทุกชิ้นที่ผลิตได้ในประเทศ ชิ้นละ 2.50 บาท
ส่วนผู้กักตุน หรือคนที่แอบซื้อหลังโรงงาน โดยให้ราคาสูงกว่าที่โรงงานขายให้กับกระทรวงพาณิชย์นั้นได้ให้เวลา 3 วัน (ตั้งแต่วันที่ 5 มี.ค.63) ในการเคลียร์สต๊อกให้หมด และวันที่ 9 มี.ค.63 เป็นต้นไป ต้องขาย 2.50 บาททุกชิ้น (แม้เคลียร์สต๊อกเก่าไม่หมดก็ตาม)
ใครก็ตามขายเกิน 2.50 บาท ทั้งผู้ค้าทั่วไป ผู้ค้าออนไลน์ รวมถึงเจ้าของแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ และเจ้าของอี-มาร์เก็ตเพลส ที่ปล่อยให้ผู้ค้าในแพลตฟอร์มตนเองขายเกินราคาจะดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับหน้ากากนำเข้าทุกแบบ ผู้นำเข้าต้องแสดงต้นทุนนำเข้ากับกรมการค้าภายใน และสามารถตั้งราคาขาย โดยบวกค่าบริหารจัดการ และค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าขนส่ง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าบริหารงานบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าตอบแทน ฯลฯ ได้ไม่เกิน 60% ของต้นทุนนำเข้า เช่น นำเข้าชิ้นละ 100 บาท ราคาขายบวกได้เป็น 160 บาทไม่เกินนี้
ส่วนการครอบครองเกินปริมาณที่กำหนด แม้ กกร.ยังไม่ได้ออกประกาศให้ผู้ที่มีครอบครองเกินปริมาณกำหนด ต้องแจ้งปริมาณที่ครอบครองต่อกรมการค้าภายใน แต่ได้กำหนดพฤติกรรมห้ามกักตุน คือ 1.เก็บสินค้าไว้ในสถานที่อื่นนอกเหนือจากที่ได้แจ้งไว้กับเจ้าหน้าที่ 2.ไม่นำหน้ากากที่มีเพื่อจำหน่ายออกมาจำหน่าย 3.ปฏิเสธการจำหน่าย 4.ประวิงการจำหน่าย และ 5.ส่งมอบโดยไม่มีเหตุผลอันควร ถ้าใครมีพฤติกรรมเหล่านี้ มีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
และเพื่อให้การกระจายหน้ากากอนามัยไปสู่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ และทุกภาคส่วนได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น “ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย” ได้ปรับจำนวนการกระจายใหม่ทั้งหมด โดยหลังจากยึดมาแล้ว 1.2 ล้านชิ้น ได้แบ่งให้กระทรวงสาธารณสุขวันละ 700,000 ชิ้น เพื่อกระจายให้โรงพยาบาลทุกแห่ง ทุกสังกัด รวมถึงโรงพยาบาลเอกชน
ที่เหลืออีก 500,000 ชิ้น กระทรวงพาณิชย์กระจายสู่ประชาชน ผ่านหลายช่องทาง ทั้งสมาคมร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ ร้านธงฟ้า และรถโมบายวันละ 111 คัน ส่งตรงถึงประชาชนทั่วประเทศ
นอกจากนี้ กกร.ยังได้ออกประกาศกำหนดให้เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ เป็นสินค้าที่จะต้องขออนุญาตก่อนปรับขึ้นราคา และต้องได้รับอนุญาตก่อนจึงจะปรับราคาได้ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาแพง
อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยอมรับว่า มาตรการเหล่านี้ เพียงแค่บรรเทาความเดือดร้อนเท่านั้น เพราะความต้องการใช้ยังมากกว่าสินค้าที่ผลิตได้ โดยความต้องการใช้เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่ามาอยู่ที่เดือนละ 150 ล้านชิ้น จากภาวะปกติที่ใช้เดือนละ 30 ล้านชิ้น และมีกำลังการผลิตเดือนละ 36 ล้านชิ้นเท่านั้น
ขณะที่การนำเข้าน้อยมาก ล่าสุดเดือน ม.ค.63 นำเข้าได้ 800,000 ชิ้น จากภาวะปกติที่เคยนำเข้าได้เดือนละ 20 ล้านชิ้น และมีแนวโน้มจะนำเข้าได้น้อยลงอีก เพราะผู้ส่งออกห้ามส่งออกทั้งหมด ส่วนวัตถุดิบสำคัญอย่างฟิลเตอร์ (แผ่นกรองเชื้อโรค) กำลังจะหมดสต๊อกของผู้ผลิต และจีน ผู้ผลิตรายใหญ่ห้ามส่งออกอีก แม้ไทยจะนำเข้าจากแหล่งอื่นอย่างไต้หวัน อินโดนีเซีย แต่ก็ยังไม่เพียงพอ การส่งมอบล่าช้า และราคาแพงขึ้นเป็นเท่าตัว
เมื่อสถานการณ์หน้ากากอนามัยไทยเป็นอย่างที่ว่า การบริหารจัดการเช่นนี้ น่าจะดีที่สุดสำหรับวิกฤตการณ์ครั้งนี้!!
สิริวรรณ พงษ์ไพโรจน์